advertisement

อ.ชูชาติ แจงข้อกฎหมายเอาผิด ผู้จับลิขสิทธิ์เด็กทำกระทงลายการ์ตูน


advertisement

     จากกรณีที่เด็กวัย 15 ปี โดนสั่งให้ทำกระทงลายการ์ตูน ก่อนจะโดนบุกจับลิขสิทธิ์ ซึ่งต่อมาบริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาชี้แจงว่า ทางบริษัทในฐานะตัวแทนลิขสิทธิ์ ของบริษัท San-X ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2560 ไม่ได้มอบหมายให้ผู้ใดทำการจับลิขสิทธิ์ผิดกฎหมายแต่อย่างใดพร้อมมอบหมายให้ทนายความดำเนินการสืบหาความจริงในกรณีที่เกิดขึ้น 

บุกจับลิขสิทธิ์เด็กทำกระทงการ์ตูน

         ล่าสุด ทางด้าน อ.ชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ก็ได้ออกมาโพสต์แสดงความคิดเห็นและข้อกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวด้วย โดยระบุว่า…  


advertisement

       กรณีที่เด็กนักเรียนหญิงคนหนึ่งทำกระทงขายหารายได้เป็นค่าเล่าเรียนพิเศษ มีผู้ว่าจ้างให้เด็กคนนี้ทำกระทงลายการ์ตูนจำนวน 136 กระทง ทั้งๆ ที่ตามปกติเด็กทำกระทงลายดอกไม้ โดยผู้จ้างได้จ่ายเงินมัดจำ 200 บาท เด็กใช้เวลาทำกระทงตั้งแต่ 8 นาฬิกา จนถึง 01.30 นาฬิกา ของวันใหม่ แต่เมื่อเด็กนำกระทงไปส่งให้แก่ผู้ว่าจ้างกลับถูกผู้ว่าจ้างแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าเด็กคนนี้ว่าละเมิดลิขสิทธิ์นั้น

       กรณีนี้ถ้าผู้ว่าจ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือได้รับมอบ อำนาจโดยถูกต้องตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนที่ให้เด็กนำไปทำกระทง การที่ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จ้างให้เด็กทำกระทงลายการ์ตูนที่ตนเองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ก็เท่ากับว่า ผู้ว่าจ้างอนุญาตให้เด็กใช้สิทธิในลิขสิขสิทธิ์ของตนตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ มาตรา 15 เด็กจึงไม่มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ มาตรา 27

       เมื่อเด็กไม่มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์การที่ผู้ว่าจ้างไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินคดีแก่เด็ก โดย มีการเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดลิขสิทธิ์จากเด็ก หากเด็กจ่ายค่าเสียหายให้ก็จะไม่ติดใจดำเนินคดี เช่นนี้ถือได้ว่า ผู้ว่าจ้างข่มขืนใจเด็กให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนเองได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะดำเนินคดีอันเป็นการทําอันตรายต่อเสรีภาพคือทำให้เด็กต้องถูกควบคุมตัวหมดเสรีภาพในร่างกาย หรือทำอันตรายต่อชื่อเสียงของเด็กคือทำให้เด็กต้องตกเป็นผู้ต้องหาว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย จนทำให้เด็กต้องยินยอม

       การกระทำของผู้ว่าจ้างจึงมีความผิดฐานกรรโชก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 มีโทษจําไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท
       ทั้งมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 173 และ 174 ซึ่งมีโทษสูงสุดจํา ไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท เช่นเดียวกัน

       ดังนั้นถ้าเจ้าพนักงานตำรวจไม่มีส่วนรู้เห็นกับผู้ว่าจ้างเด็ก ก็ต้องไม่รับแจ้งความและไม่ดำเนินคดีแก่เด็กตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ แต่ต้องดำเนินคดีแก่ผู้ว่าจ้างที่ไปแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่เด็กในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตามมาตรา 172, 173 และ 174 กับข้อหากรรโชกตามมาตรา 337


advertisement

       ความผิดตามมาตรา 172, 173, 174 และ 337 เป็น ความผิดอาญาแผ่นดิน แม้จะไม่มีผู้ใดแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่ผู้ว่าจ้างเด็ก แต่การกระทำของผู้ว่าจ้างเด็กได้ปรากฎแก่เจ้าพนักงานตำรวจโดยชัดแจ้งแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจจึงมีอำนาจดำเนินคดีแก่บุคคลนี้ได้ตามกฎหมาย

       หากเจ้าพนักงานตำรวจเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีแก่ผู้จ้างเด็ก ก็อาจมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมงลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้

       อนึ่งมีข่าวว่า เจ้าของลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนซึ่งเป็นนิติบุคคลในประเทศญี่ปุ่นยืนยันว่าไม่ได้มอบอำนาจให้บุคคลใดไปจับกุมผู้นำตัวการ์ตูนไปใช้ หากข่าวนี้เป็นความจริง ก็แสดงว่าผู้ไปว่าจ้างเด็กไม่มีสิทธิใดๆ ที่จะไปจับกุมหรือแจ้งความดำเนินคดีแก่เด็ก การกระทำดังกล่าวจึงมีความผิดตาม มาตรา 172, 173, 174 และ 337 อย่างแน่นอน

        ถึงขั้นอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ออกมาเผยข้อกฎหมายเกี่ยวกับประเด็นนี้ เห็นได้ชัดเลยว่าผู้ที่อ้างตัวเข้าไปจับลิขสิทธิ์เด็กนั้นมีความผิดอย่างแน่นอน 

เรียบเรียงโดย : thaihitz.com ขอขอบคุณข้อมูลจาก Chuchart Srisaeng 


advertisement