advertisement

ชาวสวนแบ่งปัน 16 วิธีเลือกซื้อมังคุด เลือกอย่างไงให้ได้กินมังคุดอร่อยๆ


advertisement

       กลายเป็นอีกหนึ่งข่าวที่ถูกแชร์อยู่ในโลกโซเชียลและวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นอย่างมาก สำหรับ กรณีพ่อค้าแม่ค้ารายหนึ่งได้ไปซื้อมังคุดที่ร้านขายผลไม้แห่งหนึ่ง พอเอาไปขายถึงได้รู้ว่ามังคุดในลังเป็นมังคุดที่แข็งขายไม่ได้สักบาท จึงนำมาคืนที่ร้านจึงเกิดปากเสียง ทางร้านด่ากลับว่าลูกค้าโง่เอง ชาวเน็ตต่างวิจารณ์อย่างหนัก 

      ล่าสุด ทางด้านสมาชิกพันทิป Madam Beautiful ได้แชร์วิธีการในการเลือกมังคุด เป็นยังไงนั้นตามไปดูกันเลยครับ แบ่งปัน 16 วิธีเลือกซื้อมังคุด เพื่อเป็นแนวทางเลือกซื้อมังคุด ในช่วงฤดูผลไม้ (จากชาวสวน) 

         วันนี้เราเลยนำ 16 วิธีเลือกซื้อมังคุด เพื่อเป็นแนวทางเลือกในการเลือกซื้อมังคุดมาฝากทุกคนกันค่ะ อยากบอกว่า…….กระทู้นี้เราตั้งใจเขียน  และเรียบเรียงข้อมูลมากเลยค่ะ  เพราะอยากให้เป็นแนวทางในการเลือกซื้อมังคุดสำหรับใครหลายคนที่เป็นสาวกมังคุด แล้วอยากได้มังคุดอร่อยๆ ไปกินเวลาเลือกซื้อ   ซึ่งข้อมูลที่นำมาฝากในวันนี้  มาจากประสบการณ์ส่วนตัว และคุณน้าของเราที่ทำสวนมังคุดเป็นอาชีพหลัก เป็นคนถ่ายทอดวิชาพวกนี้ให้ค่ะ

      และถ้าข้อมูลมีขาดตกบกพร่อนส่วนไหน หรือเพื่อนๆ ท่านใด  มีวิธีการเลือกซื้อที่นอกจากเรานำมาเสนอวันนี้  มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันได้ค่ะ  เผื่อไว้เป็นแนวทางสำหรับคนที่กำลังมองหาวิธีการเลือกซื้อมังคุดกันอยู่ค่ะ

16 วิธีเลือกซื้อมังคุด มีดังนี้ค่ะ


advertisement

      1.  สีของเปลืองมังคุด  

      เป็นตัวบ่งบอกความอ่อน ความแก่ ความสุกของมังคุด รวมทั้งสามารถทำนายรสชาติของมังคุดได้อีกด้วย  ซึ่งปกติชาวสวนจะดูสีของเปลือกมังคุดเป็นหลักในการเก็บขาย โดยคำนวณระยะทางการขนส่งจากสีของเปลือกมังคุดในเวลาเก็บขายอีกด้วย ดังนั้น เวลาเราเลือกซื้อมังคุด  การรู้จักพื้นฐานของสีของเปลือกมังคุดจึงจำเป็นมากๆ ค่ะ  โดยเราสังเกตได้จาก 


advertisement

      1.1  ผลอ่อน  

      จะมีเปลือกสีเขียวสด  ก้านผลไม่อวบอูม ขั้วผลมีสีเขียว ฐานรองดอกที่ก้นมังคุดมีสีน้ำตาลสด เก็บจากต้นจะมียางติดที่ก้าน และไม่มีรอยบุ๋มที่ก้านผล

      1.2  มังคุดเริ่มมีจุดสายเลือด 

      เป็นระยะที่มังคุดเริ่มสุก จะมีเส้นสีแดงปะปนในผลสีเขียว ลักษณะเป็นจุดๆ สีแดง หรือเส้นสีแดง ระยะนี้จะเรียกว่า “มังคุดเริ่มมีสายเลือด” ส่วนใหญ่จะนิยมนำอาหารพื้นบ้าน เช่น มังคุดคัด แกงส้ม แกงคั่ว เป็นต้น

      1.3  มังคุดเริ่มกินได้ 

      เป็นระยะที่เส้นสายเลือดกระจายทั่วผลมังคุด สีเปลือกมังคุดจะเริ่มจากสีชมพูแดงระเรื่อทั่วผล เปลือกแข็งนิดหน่อย  ถ้าเราปอกมากินจะมียางอยู่ในเปลือก แต่ก็เริ่มกินได้แล้ว  ซึ่งรสชาติจะเปรี้ยวซ่าร์ อมหวานนิดหน่อย ระวังอย่าให้โดนยาง  ไม่นั้นจะมีรสชาติขมๆ ติดปาก แต่ส่วนตัวจะชอบกินมังคุดระยะนี้มากที่สุด เพราะเปรี้ยวซ่าร์อมหวานนิดหน่อยดีค่ะ

      1.4  มังคุดสุก  

      มีลักษณะเปลือกมังคุดสีม่วงแดง  จนถึงเปลือกสีม่วงเข้ม ขั้วก้านสีเขียว  กลีบดอกมีสีเขียวและมีน้ำตาลเจือปนอยู่บ้าง  ซึ่งแล้วแต่ระดับความสุกของผลนั้นๆ  ฐานรองดอกมีสีน้ำตาลเข้ม  รสชาติเปรี้ยวหวานกำลังดี แต่จะไม่เปรี้ยวไม่ซ่าร์แบบระยะก่อนหน้านี้  ส่วนตัวแล้วเป็นอีกระยะที่น่าซื้อกินค่ะ

      1.5  มังคุดสุกงอม-เต็มที่  

      เปลือกจะเปลี่ยนจากสีม่วงดำมาเป็นสีดำ ก้านผลเริ่มเป็นสีน้ำตาล  กลีบดอกเริ่มมีสีน้ำตาลเข้ม  ฐานรองดอกสีน้ำตาลเข้ม รสชาติหวานฉ่ำเต็มที่  ใครชอบมังคุดรสชาติหวานจัดๆ แทบไม่มีรสชาติเปรี้ยวผสมเลย  ควรจัดระยะนี้ค่ะ แต่เมื่อซื้อกลับมาบ้าน ระยะจะเก็บได้เพียง 1-2 วัน เพราะเนื้อจะเริ่มเหลว เปลือกเริ่มแข็ง  เนื้อจะเละค่ะ

      2. สีของกลีบดอกที่ขั้วก้านมังคุด  

       เป็นเฉดสีที่สัมพันธ์กับระดับความสุกของมังคุด  ซึ่งมันจะเปลี่ยนแปลงสีไปเรื่อยตามความสุกและอายุของผล  ตั้งแต่กลีบดอกสีเขียวแก่ สีน้ำตาล สีดำ และเหี่ยวลงในที่สุด


advertisement

     3. ลักษณะกลีบดอกที่ขั้วมังคุด  

     ธรรมชาติมังคุดจะมี 4 กลีบดอก  ถ้าผลมังคุดที่สุกดี  มันจะงุ้มหรือโค้งลงหาลูกที่เยอะมากๆ  ภาษาใต้จะเรียกว่า “พอง” ค่ะ  และถ้าเก็บขายนานแล้ว  กลีบมันจะช้ำๆ แห้งๆเหี่ยวๆ ค่ะ

     4. จำนวนฐานรองดอกมังคุด  

      จะอยู่ที่ก้นมังคุด รูปร่างคล้ายดอกไม้ ซึ่งจะบอกถึงจำนวนกลีบมังคุดข้างใน ซึ่งธรรมชาติของฐานรองดอกมังคุดจะมี 6 ฐาน แต่ก็มี 5 ฐาน หรือ 7 ฐานให้เห็นอยู่เรื่อยๆ  ยิ่งกลีบฐานรองดอกเยอะ โอกาสที่เม็ดมังคุดจะมีน้อยค่ะ แต่ถ้าลูกเล็ก แล้วมี 5 กลีบ  ส่วนใหญ่จะมีเม็ดใหญ่อยู่ในผล 1-2 เม็ดค่ะ 


advertisement

       5.  ความสดของขั้วผล  จะบอกระดับความสดใหม่ของผล มังคุดสดก้านผลเต่งตึง ไม่แห้งเหี่ยว  

       6. ยางที่ขั้วก้าน มังคุดอ่อนเวลาเก็บจากต้นจะมียางไหลที่ก้าน ส่วนมังคุดที่เริ่มกินได้แล้วจะไม่มียางไหลที่ก้าน 

         7.  ความบุ๋มของขั้วก้าน  มังคุดอ่อนจะไม่มีรอยบุ๋มที่ขั้วก้าน โดยมังคุดตั้งแต่ระยะเก็บขาย ระยะสายเลือด ระยะสุก  เมื่อเก็บจะมีรอยบุ๋มที่ขั้วก้านลึกลงไปค่ะ ต่อให้ตั้งขายอยู่ตามตลาด รอยบุ๋มที่ขั้วก้าน  เราก็สังเกตได้ไม่ยาก เพราะถ้ารอยบุ๋มมันเหี่ยวลงไปมาก แสดงว่าเก็บจากสวนนานแล้วค่ะ [ads]

    8. ขนาดผลมังคุด  

     ข้อนี้จะบอกว่าแล้วแต่รสนิยมความชอบส่วนบุคคลค่ะ  แต่ละคนลิ้นสัมผัสและความชอบแตกต่างกัน แต่จุดสังเกตของมังคุดลูกใหญ่  เรามักจะเจอกลีบใหญ่หรือเม็ดใหญ่ 2-3 เม็ด/ลูก และมักจะเจอมังคุดเนื้อแก้วมากกว่ามังคุดลูกเล็ก แต่ส่วนตัวชอบมังคุดลูกเล็กที่มี 6 กลีบ เพราะส่วนใหญ่แทบจะไม่มีเม็ดใหญ่ๆ อยู่เลยค่ะ เพราะส่วนตัวอยากเคี้ยวแล้วกลืนเลยค่ะ 

       9.  ความแข็งของเปลือกมังคุด

       เกิดจาก 2 ปัจจัย คือ 1.อายุของผลมังคุด โดยผลอ่อนและผลแก่เปลือกมังคุดจะแข็งโดยธรรมชาติของเขาอยู่แล้วค่ะ แต่ระยะมังคุดสุก  เปลือกมังคุดจะนิ่มทุกลูกอยู่แล้วค่ะ  นอกจากว่า  ผลมังคุดจะได้รับแรงกระทบกระเทือน  จากปัจจัยที่ 2  คือ แรงกระแทกหรือแรงตกกระทบจากการเก็บ การขนส่ง หรือแม้แต่การกด การบีบเปลือกมังคุดในการเลือกซื้อมังคุด  เพราะเมื่อไหร่ก็ตาม  ที่มังคุดได้รับแรงตกกระทบ แรงกระแทก แรงกด เปลือกมังกุดจะปกป้องตัวเอง ด้วยการสร้างสารลิกนินขึ้นมาเป็นเกราะป้องกันตัวเอง เลยทำให้เปลือกมังคุดแข็งอย่างรวดเร็วตามแรงที่ได้รับในการตกกระทบนั้นๆ 

        10.  น้ำหนักของผลมังคุด

         ผลมังคุดสดๆ จากต้นจะมีน้ำหนักเยอะกว่ามังคุดที่เก็บไว้นานแล้ว  เพราะเปลือกมังคุดจะมีส่วนผสมของน้ำเป็นส่วนประกอบ พอเราตั้งไว้หลายวัน  เปลือกจะแห้งเหี่ยวลง น้ำที่ผิวเปลือกก็ลดน้อยลงตามลำดับ ส่วนมังคุดที่เก็บนานแล้ว  น้ำหนักจะน้อยกว่าผลสด จับแล้วจะสัมผัสได้ถึงความเบาหวิว และผิวเปลือกจะแห้งหรือเหี่ยว เปลือกผิวดูไม่เต่งตึงค่ะ

         11.ลักษณะผิวเปลือกมังคุด มังคุดที่มีเปลือกขรุขระ ผิวไม่มันวาว ผิวไม่ลื่น ส่วนใหญ่มักไม่ใช้ยา หรือใช้ยาในการดูแลน้อยค่ะ

      12.มังคุดมีมด มังคุดที่มีมดอาศัยอยู่ในกลีบดอกที่ขั้วก้าน เป็นมังคุดไม่ใช้ยา  หรือใช้สารเคมีน้อย หรือแทบไม่ใช้สารเคมีเลยค่ะ  

       13.  มังคุดผิวตกกระ (มังคุดอร่อย)

       เป็นมังคุดที่น่าทานมากๆ สำหรับเรา  รสชาติดี เนื้อแน่น เพราะมังคุดผิวตกกระ  เกิดจากการโดนเพลี้ยไฟทำลายผิวเปลือกมังคุด เมื่อเซลล์ผิวที่เปลือกโดนทำลาย เปลือกมังคุดคายน้ำออกมาเป็นจำนวนมากที่เปลือกมังคุด  มันเลยส่งผลให้เนื้อมังคุดเนื้อแน่น  รสชาติหวานเปรี้ยวซ่าร์ อย่างลงตัว เป็นของดีที่ชาวสวนจะทราบกันดีค่ะ

      14.  มังคุดเนื้อแก้วยางไหล 

      จะมียางสีเหลืองในผลมังคุด ซึ่งมังคุดเนื้อแก้วยางไหลเป็นปัญหาที่ชาวสวนเองยังดูยากเลยค่ะ เพราะมังคุดบางผลแม้ว่าข้างนอกผลจะสมบูรณ์ดีทุกอย่าง ไม่มีรอยตำหนิใดๆ เลย  แต่ข้างในก็เป็นเนื้อแก้วยางไหล ส่วนใหญ่มักพบในฤดูฝน และขึ้นอยู่กับการดูแลเรื่องแร่ธาตุและสารอาหารของแต่ละสวนด้วยค่ะ

      15.  มังคุดมีรอยร้าว หรือ รอยแตก 

       มักเกิดจากการได้รับการกระทบกระเทือนจากหลายสาเหตุ เราจึงควรหลีกเลี่ยงมังคุดที่มีเปลือกแตกหรือร้าว  เพราะส่วนใหญ่เปลือกจะแข็ง เนื้อข้างในมักจะเป็นเนื้อแก้วยางไหล เนื้อแก้ว หรือเนื้อข้างในช้ำจนกินไม่ได้ 

       16.  มังคุดก้านเหี่ยว ผิวเหี่ยวแห้ง เปลือกแห้ง  

        ส่วนใหญ่เป็นมังคุดที่เก็บจากต้นนานแล้วค่ะ ไม่ควรซื้อมาทานค่ะ เป็นมังคุดไม่มีคุณภาพ ทานไม่อร่อย เปลือกมักจะแข็ง ถึงแม้บางลูกแกะออกมาไม่มีปัญหาอะไร  แต่รสชาติจะไม่อร่อยแบบผลสด และมังคุดประเภทนี้ถ้าคนไม่รู้เกี่ยวกับข้อมูลมังคุดเลยหรือสังเกตไม่ดี  มักจะมีแม่ค้าบางคนที่เห็นแก่ตัว ซ่อนแอบเอาลูกลักษณะนี้ไว้ใต้ถุง แล้วก็เอาลูกสดๆ วางไว้ข้างบน แล้วขายในราคาถูกๆ  ท่านผู้ชมต้องระวังและสังเกตกันดีๆ ค่ะ

          วันนี้เราขอจบกระทู้เพียงเท่านี้นะคะ  ขอบคุณทุกคนที่อ่านกระทู้ของเรามากๆ ค่ะ หากมีข้อผิดพลาดประการใด ขออภัยล่วงหน้าด้วยค่ะ

เรียบเรียงโดย : thaihitz.com ขอขอบคุณข้อมูลจาก  Madam Beautiful


advertisement