advertisement
อุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นอีกหนึ่งของจำเป็นที่ทุกๆ บ้านต้องมี ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จะต้องเน้นความปลอดภัย มีมาตรฐาน ซึ่งราคาก็มักจะแพงขึ้นไปตามเกรด วันนี้เราเลยมี วิธี DIY ปลั๊กพ่วงใช้เองแบบง่ายๆ แต่ได้มาตรฐาน มอก. จากคุณ Like สาระ? สมาชิกเว็บไซต์พัน ทิปได้ออกมาโพสต์แบ่งปันไว้ระบุว่า
ผมประกอบปลั๊กพ่วงใช้เองหลายตัวแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นปลั๊กพ่วงใช้งานตามบ้านใช้ปลั๊ก 3 ขามาตรฐาน มอก. ติดสาย VCT x3 ขนาด 1.5 Sq.mm. ใส่วงจร EMI Filter ในบางตัว ไม่ใส่ในบางตัวเพื่อการใช้งานแตกต่างกันออกไป แต่ปลั๊กพ่วงที่ผมประกอบนี้จะนำติดรถประจำเพื่อใช้งานนอกบ้านเมื่อยามต้องหอบโน๊ตบุ๊คและปริ๊นเตอร์ไปทำงานตามโรงแรมรีสอร์ทต่างๆ ที่ผมไปพัก ซึ่งบางแห่งไม่สามารถเสียบปล๊ก 3 ขาได้ ในบางครั้งลืมเอาอะแดปเตอร์แปลงขาติดรถไปด้วยก็ยุ่งยากขึ้นไปอีก ก็เลยเป็นที่มาของการประกอบปลั๊กพ่วงตัวใหม่นี้ และหลายวันมานี้เห็นมีกระทู้เกี่ยวกับการใช้งานปลั๊กพ่วงเยอะก็เลยตั้งกระทู้เป็นแนวทางให้เพื่อนๆ ได้ทำใช้เองง่ายๆ แต่ได้คุณภาพที่ปลอดภัย ทนทาน
ปลั๊กตัวใหม่นี้ผมจะเอาไปใช้นอกบ้าน ติดรถไว้ประจำจึงต้องการน้ำหนักเบา แต่ใช้งานได้ดี ปลอดภัย อุปกรณ์ที่ใช้เกรดมาตรฐาน มอก. ทั้งสิ้น
1. เต้ารับ 3 ขาตัวคู่ มาตรฐาน มอก. 2 ตัว ผมเลือกยี่ห้อ วีน่า ของไทยเพราะราคาถูกแต่คุณภาพไม่ได้เป็นรองของนอกที่ดังๆ
2. กล่องบ็อกคู่ ยี่ห้อ Leetech รุ่น BX 102 (ถ้าใช้ยี่ห้ออื่นจะต้องมีแผ่นปิดแต่ยี่ห้อนี้รุ่นนี้ไม่ต้องมีแผ่นปิดให้ยุ่งยาก) หน้ากาก แบบ 2 ช่อง
3. สายไฟ VCT 1.5 Sq.mm. x2 แบบฉนวนบางยาว 7 เมตร (เพราะจะใช้งานจริง 2 เส้น ถ้าประกอบใช้ตามบ้านที่มีสายดินให้เลือกชนิดสายไฟ 3 เส้น)
advertisement
เบรกเกอร์ติดแท่นตัวเล็ก
4. เบรกเกอร์ติดแท่นตัวเล็ก ขนาด 10 A. (เหมาะสมกับสายไฟ 1.5 Sq.mm. ถ้าใช้สาย 2.5 Sq.mm. ให้ใช้ขนาด 15 A)
5. เศษสายไฟแกนเดี่ยว ขนาด 1.5 Sq.mm (ปอกเอาจากสายไฟบ้านถ้าไม่มีก็ให้ซื้อมา 1 เมตร) อื่นๆ อาจมีหรือไม่มีก็ได้ เช่น ท่อหดขนาด 12 มิล ยาว 2 นิ้ว ท่อหดขนาด 3 มิล ยาว 1 นิ้ว สายเคเบิ้ลไทร์เล็ก 1 เส้น 6. เครื่องมือได้แก่ ไขควงแขก หัวแร้ง(ถ้าฝีมือบัดกรีไม่ดีแนะนำให้ซื้อหางปลามาใช้แทนการบัดกรี) คีม สว่านไฟฟ้า+ดอกเจาะ(ถ้าไม่มีใช้เหล็กแหลมเผาไฟเจาะรูแทนได้)
advertisement
advertisement
การประกอบก็เริ่มจากเจาะรูกล่องบ็อก BX 102 ผมเจาะ 2 รูตรงข้ามกันสำหรับสอดสายไฟและติดตั้งเบรกเกอร์ เจาะรูหากไม่พอดีก็ใช้กรรไกคว้านรูให้พอดีซึ่งทำได้ง่ายๆ เพราะพลาสติกเนื้ออ่อน
จากนั้นสอดท่อหด 12 มิลเข้าสายไฟแล้วสอดสายไฟเข้าไปในรูที่เจาะ สอดท่อหด 3 มิลเข้าที่สายไฟทั้งสองเส้นบัดกรีสายไฟสีน้ำตาลหรือขาวเข้ากับขาของเบรกเกอร์
advertisement
การบัดกรีอาจต้องใช้ฝีมือนิดหนึ่ง ต้องมีหัวแร้งขนาดกำลังวัตต์ที่พอดีกับงาน ห้ามจี้หัวแร้งนานเกินไปเพราะเบรกเกอร์จะพังได้และให้สอดสายเข้าไปในรูขาเบรคเกอร์ งอปลายสายแล้วบัดกรีพอกตะกั่วให้พอดี
เขาว่ากันว่าการจะดูฝีมือช่างคนใดเชี่ยวชาญงานหรือไม่ดูจากรอยบัดกรี 4-5 จุดก็สามารถบอกได้แล้ว เพราะงานนี้ดูเหมือนจะง่ายแต่ต้องใช้ประสบการณ์พอสมควรจึงจะบัดกรีได้ดี หากไม่ถนัดใช้หัวแร้งแนะนำให้ซื้อหางปลามาใช้แทนโดยเทียบขนาดจากขาเบรกเกอร์ ราคาตัวละ 2-3 บาท
เมื่อบัดกรีหรือเข้าสายไฟกับหางปลาเสร็จก็ใช้ไฟแช็คลนท่อหดให้รัดแน่น
จากนั้นโยงสายไฟไปเชื่อมต่อกัน ให้เริ่มทำจากตรงกลางก่อนเพราะเมื่อประกอบกับหน้ากากแล้วจะไม่ต้องรื้อมาขันสกรูอีก การโยงสายก็ไม่ยากเย็นอะไร โยงจากเบรกเกอร์ข้างหนึ่งที่เหลือเข้ามายัง L แล้วโยงไป L ของเต้ารับอีกตัว สายที่เหลือก็คือสาย N ที่ปลายสายผมจะเคลือบตะกั่วเอาไว้เพื่อให้สายไฟแข็งตัวสอดเข้าไปได้ง่าย โยงสาย N ของเต้ารับทั้งสองตัวเข้าด้วยกัน
ขันสกรูยึดหน้ากาก
ใส่แผ่นปิดหน้ากาก
สายไฟด้านในกล่องให้ใช้ไฟลนท่อหด 12 มิลให้หดตัวแล้วเลื่อนเข้าไปใจรูที่เจาะ ใช้เคเบิ้ลไทร์รัดสายไฟให้แน่นด้านในของกล่องป้องกันการดึงสาย ขันสกรูยึดหน้ากาก ใส่แผ่นปิดหน้ากาก
เคลือบตะกั่วให้แข็งตัวแล้วใช้คีมบีบให้โค้ง
ที่สายไฟอีกด้านตอนแรกผมว่าจะใช้ปลั๊กตัวสีดำแต่มาคิดอีกทีปลั๊กแบบนี้มันตัวใหญ่ไปเวลาเสียบกับเต้ารับ 3 ตาแบบเก่าแล้วมันจะทำให้ใช้งานเต้ารับไม่ครบทุกช่องเพราะมันจะไปเบียดปลั๊กตัวอื่น ก็เลยหาปลั๊กเก่าในบ้านเจอยี่ห้อเดียวกับเต้ารับที่ผมซื้อมา ที่ปลายสายจะปอกยาว 1.5 เซ็นเคลือบตะกั่วให้แข็งตัวแล้วใช้คีมบีบให้โค้งเป็นวงกลมบัดกรีที่ปลายงวงกลมให้เป็นห่วงแล้วขันติดที่ขาปลั๊ก เทคนิคนี้จะทำให้งานประกอบแน่หนาดึงไม่หลุด
ขันสกรูเข้าให้แน่นก็เป็นอันเสร็จได้ปลั๊กพ่วงราคาประหยัด สายไฟ 85 บาท เต้ารับตัวละ 50 บาท หน้ากาก 20 บาท กล่อง BX 102 22 บาท เบรคเกอร์ 15 บาท ปลั๊ก 12 บาท รวมแล้วไม่ถึง 300 บาท น้ำหนักเบาแต่คุณภาพสูงทนทานมีอะไหล่เปลี่ยนได้ตลอดไว้ใช้งานแล้ว
ขอขอบคุณที่มาจาก : Like สาระ?
advertisement