advertisement
นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ทช. ได้สรุปผลประชุมและปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด (EIA) สะพานเชื่อมเกาะลันตา ต.เกาะกลาง-ต.เกาะลันตาน้อย อ.เกาะลันตา จ.กระบี่แล้ว
ขั้นตอนต่อไปจะส่งรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) เสนอสํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 7 เดือน จากนั้นจะเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต่อไปโดยจะใช้เวลาพิจารณาอีกประมาณ 2 เดือน ตามขั้นตอนต้องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบด้วย โดยทช.ได้เสนอของบประมาณปี 65 ประมาณ 1,600 ล้านบาท หากได้รับความเห็นชอบจะเริ่มประกวดราคาก่อสร้างในปี66 ใช้เวลาก่อสร้างราว2ปีแล้วเสร็จเปิดบริการปี68
นายปฐม กล่าวต่อว่า โครงการมีจุดเริ่มต้นก่อสร้างจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4206 บรรจบทางหลวงชนบทสาย กบ.5035 ความยาวสะพานรวมเชิงลาดประมาณ 2,240 เมตร เป็นแบบสะพานคานขึง (Extradosed Bridge) ขนาด 2 ช่องไปกลับ มีความยาวช่วงสะพานมากกว่าสะพานทั่วไป เพื่อความสะดวกสบายในการสัญจรทางน้ำ และมีขั้นตอนในการก่อสร้างซึ่งรบกวนระบบนิเวศน้อยที่สุด
advertisement
เนื่องจากพาดผ่านพื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่ป่าชายเลน นอกจากนี้ยังออกแบบสะพานให้มีความสวยงาม พร้อมจุดชมวิวประมาณ 4-5 จุด สามารถนำจักรยานขึ้นมายังจุดชมวิวและเที่ยวชมประติมากรรมบนสะพานได้ด้วย
advertisement
advertisement
นายปฐม กล่าวต่อว่า สำหรับผลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ทช.มีมาตรการป้องกันแก้ไขลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ อาทิ ในส่วนของโครงสร้างที่อยู่ในทะเลนั้นจะมีมาตรการป้องกัน การสั่นไหวเนื่องจากปัจจัยต่างๆ รวมถึงป้องกันการกัดเซาะ และป้องกันการเกิดสนิม โดยสายเคเบิลสะพานที่เป็นเหล็ก ได้ถูกออกแบบให้ป้องกันการเกิดสนิม ประกอบด้วย การป้องกันด้วยท่อพลาสติกหุ้มอยู่ภายนอก ป้องกันไอน้ำทะเล และแสง UV
นอกจากนี้ภายในท่อพลาสติกมีการอัดน้ำปูน-ทราย หุ้มสายเคเบิ้ลไว้อีกชั้นหนึ่ง ทําให้ไม่มีช่องว่างให้อากาศชื้นที่มีความเค็มของไอทะเลเข้าท่อพลาสติกได้ รวมไปถึงการป้องกันสนิมที่ตัวสายเคเบิ้ล โดยมีสารเคลือบป้องกันสนิมโดยตรงตามมาตรฐานสากล [ads]
–
advertisement
ตลอดจนมีระบบตรวจสอบสภาพการเกิดสนิมและใช้ระบบไฟฟ้าสถิตเหนี่ยวการเกิดสนิม ไม่ให้เกิดที่สายเคเบิ้ล แต่ให้มาเกิดที่บ่อดักสนิมด้วยกระแสไฟฟ้าสถิตแทน การป้องกันสนิมด้วยวิธีนี้เรียกว่า ระบบแคโทดิก (Cathodic Protection)เป็นการใช้ไฟฟ้ากระแสตรงจากแหล่งกําเนิดภายนอกเพื่อยับยั้งการเกิดสนิมของโลหะ
นายปฐม กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ทช. ได้จัดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเชิญกลุ่มเป้าหมาย อาทิ ประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ แบ่งเป็นการประชุมปฐมนิเทศโครงการการประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 (2 กลุ่ม) และการประชุมใหญ่ครั้งที่ 2 (รวมทั้งหมด 3 ครั้ง) เพื่อสรุปแนวทางเลือกที่เหมาะสม โดยให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันคัดเลือกเส้นทางพื้นที่ศึกษาและลดผลกระทบโครงการน้อยที่สุดด้วย
สำหรับโครงการนี้เกิดขึ้น เนื่องจาก ทช. ได้เล็งเห็นความจําเป็นของการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมระหว่างบ้านหัวหิน ต.เกาะกลาง กับ เกาะลันตาน้อย ต.เกาะลันตาน้อย เพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาพื้นที่ กระจายความเจริญ สู่ชุมชน อํานวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม ส่งเสริมการท่องเที่ยว
รวมถึงยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนบนเกาะลันตา ที่ตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน พื้นที่ จ.กระบี่ ระหว่างทะเลกระบี่กับทะเลตรัง ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมในการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางรวมถึงแก้ไขปัญหาความยากลําบากในการเดินทางของประชาชน สามารถใช้สะพานเชื่อมการเดินทางได้ตลอด24 ชม.
ปัจจุบันการเดินทางไปเกาะลันตาจะต้องผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4206 สู่บ้านหัวหิน ซึ่งเป็นจุดลงแพขนานยนต์ ท่าเรือบ้านหัวหินไปยังท่าเรือบ้านคลองหมาก ซึ่งท่าเรือดังกล่าวเชื่อมระหว่างเกาะกลางไปยังเกาะลันตาน้อย
–
หลังจากนั้นจะมีสะพานสิริลันตาเชื่อมเกาะลันตาน้อย-เกาะลันตาใหญ่ จึงจะถึงตัวเมือง ย่านชุมชน/การค้า และตรงต่อไปยังหาดต่าง ๆ จนไปสุดถนนที่ท้ายเกาะบริเวณที่ทําการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา การใช้แพขนานยนต์ แม้เป็นระยะทางสั้นเพียง 1.53 กม. แต่บรรทุกรถได้น้อย มีจํานวนจํากัดและให้บริการช่วงเวลา 06.00-22.00 น. เท่านั้น ส่งผลให้การเดินทางล่าช้าในช่วงเวลาเร่งด่วน
เรียบเรียงโดย : thaihitz.com ขอขอบคุณข้อมูลจาก ข่าวนวัตกรรมขนส่ง เดลินิวส์
advertisement