advertisement
ยังคงต้องจับตากันอย่างต่อเนื่อง สำหรับสถานการณ์ปริมาณน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำมูล และลำน้ำชี ทำให้น้ำไหลท่วมพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี สร้างความเสียหายทั้งสิ้น 25 อำเภอ 170 ตำบล 1,289 หมู่บ้าน ราษฏรได้รับความเดือดร้อน 36,307 ครอบครัว 144,314 คน อพยพ 20,865 คน เจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐ เอกชน และจิตอาสา ต่างลงพื้นที่เข้าช่วยเหลือประชาชนกันเป็นจำนวนมาก
ล่าสุด ได้มีทางด้านผู้ใช้เฟสบุ๊ก ป้าย บูรพาไม่แพ้ ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมอุบลฯ ทำไม่ถึงเกิดซ้ำซาก โดยระบุว่า…
วิกฤตน้ำท่วมอุบลราชธานีซ้ำซาก ปีนี้ (2562) ตัวเมืองอุบลราชธานี ประสบภัยน้ำท่วมหนักมาก มากจนหลายคนเกรงว่าภาพหลอนน้ำท่วมใหญ่ปี 2521 จะเกิดขึ้นจริง แต่โดยส่วนตัวผมว่า เหตุการณ์คงไม่ถึงขั้นนั้น เพราะว่าในปัจจุบัน เรามีเครื่องไม้ เครื่องมือที่ทันสมัย มาใช้เพื่อคลี่คลายสถานการณ์มากกว่าในอดีตมากนัก
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ประมาทไม่ได้ จึงควรมีการเตรียมแผนการไว้ให้ดี เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดคิดได้ ดังเช่นวิกฤตน้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้
สิ่งที่ผมจะนำเรียนต่อไปนี้นี้ ผมไม่ได้มีเจตนาจะซ้ำเติมแต่อย่างใด แต่ผมมองว่าเหตุการณ์น้ำท่วมเมืองอุบลราชธานี ที่ค่อยข้างจะถี่เกินไปนั้น มาจากการไม่มีแผน และไม่เตรียมความพร้อมสำหรับรับมือกับเรื่องน้ำ รวมทั้งการบริหารจัดการที่ไม่เป็นมืออาชีพ ไม่ยอมใช้ข้อมูล ที่เป็นวิทยาศาสตร์ ข้อมูลวิชาการ จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอย่างที่เป็นอยู่
ก่อนนี้เมื่อปี 2560 ปริมาณน้ำ (น้ำด้านบนทั้งน้ำมูนและน้ำชี) น่าจะมีมากกว่าปีนี้ (ปี 2562) ทั้งยังมีน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนลำปาว ที่เกินระดับเก็บกัก ขณะที่ปีนี้ (2562) มีเพียงแค่น้ำหลากทุ่ง แต่กลับเกิดความเสียหายมากกว่าปี 2560 ซึ่งผมมองว่ามีสาเหตุ ดังนี้
advertisement
๑. ที่ตั้งของตัวเมืองอุบลราชธานี เป็นพื้นที่รับน้ำของลุ่มน้ำมูน (แม่น้ำชีเป็นสาขาของแม่น้ำมูน) กว่า 69,701 ตร.กม. แต่มีสภาพเป็น “คอขวด” เพราะพื้นทีริมน้ำ (พื้นที่บุ่ง – ทาม ) กลายเป็นอาคาร บ้านเรือน สิ่งก่อสร้างเหล่านี้จึงปิด ขวางทางน้ำ ในขณะที่ร่องลำน้ำเดิม (มูนหลง) คือ “กุดปลาขาว” ถูกรุกล้ำจนไม่มีสภาพร่องน้ำ ทำให้น้ำที่ไหลเข้าสู่ตัวเมืองอุบลราชธานี ที่มีสภาพเป็นคอขวดอยู่แล้ว ทำให้เกิดการอัดเอ่อของน้ำจนล้นตลิ่งเข้าหลากท่วมในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำมูน ดังที่เห็นอยู่
advertisement
๒. น้ำต้นทุนมีมากเกินไป : น้ำต้นทุนในแม่น้ำมูน คือน้ำที่เกิดจากการเก็บกักของเขื่อนปากมูล ซึ่งในปีนี้การบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูลแย่มาก จะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ การตัดสินใจว่าจะเปิดประตูเขื่อนปากมูลเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๒ ในขณะที่ระดับน้ำเกินเกณฑ์อย่างมาก (เกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ ระดับน้ำที่ M7 อยู่ที่ ๑๐๗ ม.รทก. หรืออัตราการไหลของน้ำที่ M7 อยู่ที่ ๕๐๐ ลบ.ม./วินาที หรือระดับน้ำที่ห้วยสะคามอยู่ที่ ๙๕ ม.รทก. แต่ในวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๖๒ ระดับน้ำที่ M7 อยู่ที่ ๑๐๘.๙๙ ม.รทก. อัตราการไหลของน้ำที่ M7 อยู่ที่ ๘๐๔ ลบ.ม./วินาที และนะดับน้ำที่ห้วยสะคามอยู่ที่ ๙๙.๔๔ ม.รทก.) ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ผิดมาก
การตัดสินใจที่จะเปิดประตูเขื่อนปากมูลเกิดขึ้นในวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๒ แต่จะไปเปิดในวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๒ คือตัดสินใจวันนี้แต่จะเปิดประตูเขื่อนปากมูลจริงอีก ๑๓ วัน แต่สุดท้ายก็ต้องแอบสั่งการให้เปิดประตูเขื่อนปากมูลในเย็นของวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๒ ซึ่งเปิดก่อนประกาศไว้ ๑๐ วัน แม้จะเปิดก่อนกำหนด ก็ยังทำให้สถานการณ์เลวร้าย จนนำมาสู่วิกฤตน้ำท่วมใหญ่อยู่ในปัจจุบัน
๓.การพลั้งเผลอไม่เตรียมการรับมือน้ำ : เมื่อปี ๒๕๖๐ อนที่ท่านผู็ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี คนปัจจุบันมารับตำแหน่ง ผมก็ได้เคยเสนอต่อทีมงานท่านผู้ว่า ฯ คนก่อนว่า ต้องเปิดทางน้ำให้ไหลออกทางอื่นด้วย คือ “กุดปลาขาว” ครั้งนั้น ท่านผู้ว่า ฯ คนก่อนได้นำกำลังไปรื้อผักตบชวาออกจากกุดปลาขาว มวลน้ำที่ไหลเข้าสู่ตัวเมืองอุบล จึงไหลผ่านได้หลายทาง แต่ในปีนี้ กุดปลาขาวยังมีผักตบชวาอีดแน่นอยู่ (ภาพที่ ๓)
แต่หลังจากที่ท่านผู้ว่า ฯ คนปัจจุบันย้ายมารับตำแหน่งในช่วงเดือนตุลาคม ๒๕๖๐ สิ่งที่ท่านผู้ว่า ฯ คนก่อนทำไว้ ก็ถูกโยนทิ้ง และความเห็นข้อเสนอของผม ท่านผู้ว่า ฯ คนปัจจุบันก็ยังมองเป็นลบ จนถึงขั้นที่ท่านผู้ว่า ฯ คนปัจจุบันฟ้องร้องดำเนินคดีกับผม ซึ่งคดีที่ท่านผู้ว่า ฯ ฟ้องผมก็มาจากความเห็นต่อเรื่องการบริหารจัดการน้ำเมื่อปี ๒๕๖๐ ซึ่งศาลจังหวัดอุบลราชธานี นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๒ ที่จะถึงนี้
อย่างไรก็ตาม ใฐานะที่ผมคิดว่าข้อมูลที่ผมมีอยู่ มันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ผมก็คงต้องนำเสนอต่อสังคมเพื่อจะได้พิจารณาตามหลักวิชาการ ที่เป็นวิทยาศาสตร์ ต่อไป แม้ว่าผมจะต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอีก ก็ว่ากันไป
advertisement
แนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอุบลราชธานีซ้ำซาก
ประการที่ ๑ เขื่อนปากมูล สร้างผิดที่ : เขื่อนปากมูลที่สร้างอยู่ปลายน้ำ ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุน ในลำน้ำมีจำนวนมาก เมื่อมีน้ำฝน หรือน้ำเหนือมาสมทบ จึงทำให้ลำน้ำที่มีปริมาณน้ำเยอะอยู่แล้ว เต็ม และเอ่อล้นตลิ่งได้งาย และไม่สามารถบริหารจัดการได้เลย โดยเฉพาะสถานการณ์วิกฤตน้ำท่วมในปีนี้ สาเหตุหลักมาจากการเก็บกักน้ำของเขื่อนปากมูล ที่ทำให้มีน้ำต้นทุนในแม่น้ำมูนมาก และเมื่อเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องกัน จึงทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มอย่างรวดเร็ว ดังที่ต้องแอบเปิดประตูเขื่อนปากมูล เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นการเปิดประตูเขื่อนปากมูลก่อนกำหนดถึง ๑๐ วัน
ดังนั้นการเก็บกักนำ้ของเขื่อนปากมูล จึงเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองอุบล ฯ ซ้ำซาก หากเขื่อนปากมูลยังทำอยู่แบบน้ำ ปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองอุบล ฯ ก็จะเกิดซ้ำ ๆ อีกต่อไป
ประการที่ ๒ การเปิดทางน้ำเพิ่ม : ผมเห็นว่าเมื่อปริมาณน้ำไหลเข้าสู่ตัวเมืองซึ่งมีสภาพเป็นคอขวด จึงอยากที่จะระบายน้ำออกได้ทันท่วงที ดังรูปภาพที่ ๑ ลูกศรสีแดง คือแนวการไหลของน้ำปกติ ส่วนลูกศรสีเหลือง คือทางน้ำเพิ่ม ซึ่งในอดีตแนวลูกศรสีเหลือง ก็คือทางน้ำเดิม ที่ถูกรุกล้ำยึดไป
จากข้อมูลแผนที่ (ภาพที่ ๒) ผมเห็นว่าหน่วยงานราชการต้องดำเนินการเอาพื้นที่ร่องลำน้ำกุดปลาขาวคืนมา แล้วเปิดเป็นทางน้ำเพิ่ม ก็จะช่วยให้น้ำที่ไหลเข้าสู่ตัวเมืองอุบล ฯ มีช่องทางมากขึ้น
หมายเหตุ : แนวลูกศรสีน้ำเงิน ซึ่งทราบว่ามีความพยายามที่จะตัดเป็นทางน้ำตรงให้ไหลเร็วขึ้น ผมไม่เห็นด้วยนะ เพราะการที่ลำน้ำคดโค้ง ด้านหนึ่งก็เป็นการชะลอน้ำไปในตัวอยู่แล้ว และเส้นดังกล่าวเป็นการชักน้ำเข้าสู่ตัวเมืองอุบล ฯ ซึ่งไม่จำเป็น การผ่องน้ำออกจากตัวเมืองต่างหากน่าจะจำเป็นมากกว่า
ไม่ใช่ว่าน้ำท่วม สถานการณ์ยิ่งวิกฤตแล้วจะมาซ้ำเติมใคร แต่ก็เป็นข้อเท็จจริง ที่เราต้องเรียนรู้ เพื่อจะไม่ย่ำความผิดพลาด ซ้ำ ๆ อีก เพียงแค่ไม่อยากให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก สงสารประชาชน ผู้รับเคราะห์ นะครับ
เรียบเรียงโดย : thaihitz.com ขอขอบคุณข้อมูลจาก ป้าย บูรพาไม่แพ้
advertisement