advertisement

พระมหาไพรวัลย์ ไขข้อสงสัย การฆ่าในเกมเป็นบาปหรือไม่?


advertisement

        จากกรณี พระศักดา สุนฺทโร ที่นำธรรมะมาย่อยแบบง่ายๆ ให้คุณเข้าใจ และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ในรายการ เจาะใจ ถือว่าเป็นพระที่มีธรรมะที่ทันสมัย ปรับให้เข้ากับโลกในปัจจุบัน ช่วงหนึ่งท่านได้พูดถึง การฆ่าคนในเกม บาปหรือไม่ ท่านก็ได้ตอบว่า ก็มีส่วนเศษของบาปอยู่ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาต่างๆ นานา 

       ล่าสุด ทางด้าน พระมหาไพรวัลย์ วรรณบุตร  แห่งวัดสร้อยทอง พระอารามหลวง ได้โพสต์ข้อความระบุว่า การฆ่าในเกม เป็นบาปหรือไม่? โดยระบุว่า…. 

       การฆ่าในเกมส์ เป็นบาปหรือไม่ ?

       อาตมาขอแสดงความเห็นในเรื่องนี้หน่อยนะ เพราะมีโยมส่งข้อความเข้ามาถามกันมากเหลือเกิน อาตมาคิดว่า มีประเด็นที่เราควรจะต้องพูดกันให้ชัดเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือว่า ในส่วนที่มีข้อถกเถียงกันในตอนนี้ว่า การฆ่าในเกมส์ เป็นบาปนั้น เป็นบาปประเภทไหน และเป็นบาปด้วยเหตุผลอะไร

       เวลาพูดถึงการฆ่า เราก็จะถึงนึกถึงเรื่องของปาณาติบาตเป็นเรื่องแรกใช่ไหม และคนส่วนใหญ่ที่สงสัย ส่วนหนึ่งก็สงสัยว่า การฆ่าคน (แม้จะเกมส์ก็ตาม) ถือเป็นปาณาติบาตหรือไม่

       อันนี้ถ้าพูดตามหลักการทางศาสนา การฆ่าในเกมส์ ไม่ถือว่าเป็นบาปด้วยข้อของปาณาติบาต เพราะองค์ประกอบของปาณาติบาตนั้นมีหลักการชัดเจนว่า จะต้องเป็นสัตว์มีชีวิตเท่านั้น ถ้าไม่ใช่สัตว์มีชีวิตก็ไม่ถือว่า เป็นปาณาติบาต ดังนั้นข้อถกเถียงในประเด็นนี้ก็ควรจะตกไป


advertisement

       ทีนี้มันก็มีเรื่องที่ควรจะต้องพูดกันต่อไปอีก เพราะเวลาที่เราพูดถึงเรื่องของการเล่นเกมส์ที่มีความรุนแรง อย่างการปล้นฆ่าหรือการต่อสู้กัน เป็นต้น มันก็จะมีทัศนะคติของคนกลุ่มหนึ่งที่มองว่า เกมส์เหล่านี้นี่แหล่ะที่เป็นสาเหตุของความรุนแรง เป็นการสั่งสมความคิดที่จะนำไปสู่ความรุนแรง


advertisement

       อาตมาเคยอ่านบทความชิ้นหนึ่งนะ เขาบอกว่า มีงานวิจัยจำนวนมากกว่า 100 ฉบับ รวมถึงการศึกษาแบบ Meta-Analysis (เป็นงานวิจัยในลักษณะรวบรวมงานวิจัยอื่นจำนวนมากมาประเมินความน่าเชื่อถือ) ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเกมส์ไม่มีความเกี่ยวข้องในการสร้างความรุนแรงในตัวผู้เล่น [ads]

       ทีนี้ถ้าเราถือตามงานวิจัยที่ว่านี้ การจะสุรปหรือเหมารวมว่า การเล่นเกมส์ที่มีความรุนแรงถือเป็นส่วนหนึ่งของการสั่งสมความคิด (จิต) ที่เป็นอุกศล เป็นความเศร้าหมอง ซึ่งจะนำไปสู่ทุคติ (อันนี้พูดแบบเชิงศาสนามากๆ) ก็ดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเป็นธรรมเท่าไหร่ คงต้องดูเป็นกรณีไป

       อาตมานึกถึงข้อเท็จจริงของตัวเองนะ คือสมัยที่เป็นเด็ก อาตมาก็เคยเล่นเกมส์พวกนี้เป็นประจำ เกมส์โขมยรถ เกมส์ยิงปืน อะไรพวกนี้ แต่มันก็เป็นเรื่องของช่วงวัยหนึ่ง อาตมาไม่ได้รู้สึกว่า เกมส์พวกนั้นมีผลอะไรกับตัวเองในตอนโตเลย คือโตแล้วก็เลิกเล่นไป บวชแล้วก็เลิกเล่นไป ไม่เคยมีความรู้สึกว่า เดินๆไปแล้ว อยากกระโดดขึ้นไปขโมยรถคนอื่นเพื่อขับเล่นเหมือนอย่างในเกมส์

       ในความรู้สึกของอาตมา เกมส์มันก็เหมือนกับการเล่นอย่างอื่นๆ ที่เราเคยเล่นในสมัยที่เป็นเด็ก เช่น แบ่งข้างซุ่มยิงกัน ถ้าโดนยิงแล้วก็ต้องแกล้งตายอะไรแบบนี้ คือการเล่นในลักษณะนี้ ไม่ได้สร้างความคิดในการอยากฆ่าใครจริงๆ เมื่อตอนที่เราโตขึ้นมาแล้ว (อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวนะ)

       ดังนั้นในทัศนะของอาตมา เกมส์อาจมีส่วนบ้างไม่มากก็น้อย ที่ส่งผลในเชิงลบต่อพฤติกรรม แต่นั่นก็เป็นเรื่องปลายเหตุ เรื่องของสภาพแวดล้อม และการเอาใจใส่ของผู้ปกครองด้วย เป็นเรื่องของช่วงวัย ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ และบางกรณีที่ผู้เล่นมีวุฒิภาวะแล้ว การเล่นเกมส์เป็นเรื่องของอะไรที่สามารถแยกแยะได้อย่างไม่ยากเลย

       อาตมามองแค่ประเด็นนี้นะ ไม่ได้คิดว่าจะต้องพูดถึงเรื่องบาปไม่บาปอะไร ถ้าจะมีใครทำอะไรที่ผิดบาป นั่นไม่ใช่เพราะว่า เกมส์ทำให้เขาผิดบาป โลกของเกมส์ทำให้เขาผิดบาป แต่เป็นเพราะทัศนคติและพฤติกรรมที่แสดงออกบนโลกแห่งความเป็นจริงของเขาเองต่างหาก


advertisement

         เป็นเรื่องที่พูดยากอยู่เหมือนกัน ว่าบาปหรือไม่บาปกันแน่ ต่างคนก็ต่างมุมมอง อาจจะด้วยอารมณ์ในการเล่นเกมที่ทำให้ส่งผลในเชิงลบต่อพฤติกรรม 

เรียบเรียงโดย : thaihitz.com ขอขอบคุณข้อมูลจาก ไพรวัลย์ วรรณบุตร 


advertisement