advertisement

รัฐเตรียมเก็บ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แบบใหม่ เริ่ม 1ม.ค. 63


advertisement

        เป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ประชาชนจะต้องทำความเข้าใจโดยทั่วกัน หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ แทนกฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 ที่ใช้กันมายาวนานกว่า 80 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น และช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยจะเริ่มบังคับใช้ 1 ม.ค. 2563

        กฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือที่เรียกกันว่า ภาษีที่ดินใหม่" เป็นกฎหมายใหม่ที่ถูกนำมาใช้แทนพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 เป็นกฎหมายที่มีการประกาศใช้นานแล้ว ทำให้การจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่มีปัญหา และข้อจำกัดเกี่ยวกับฐานภาษี อัตราภาษี และการลดหย่อนภาษีไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดเก็บรายได้ไม่เพียงพอต่อการพัฒนาท้องถิ่น รัฐบาลจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณเพื่ออุดหนุนเพิ่มเติม โดยกฎหมายฉบับนี้ใช้เวลานานกว่า 30 ปี ในการผลักดันกระทั่งผ่านเป็นกฎหมายในที่สุด

        สำหรับกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ มีการแบ่งประเภทที่ดินที่ต้องเสียภาษีไว้ 4 รายการ คือ

        1) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ประกอบเกษตรกรรม

        2) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่อยู่อาศัย

        3) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากข้อ 1 และ 2

        4) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามความแก่สภาพ


advertisement


advertisement

        เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้กับประชาชน จึงมีการกำหนดบทเฉพาะกาลการจัดเก็บภาษีช่วง 2 ปีแรก ดังนี้

        1) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เพื่อเกษตรกรรม หากมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 75 ล้านบาท เก็บภาษี 0.01 เปอร์เซ็นต์, เกิน 75-100 ล้านบาท จัดเก็บ 0.03 เปอร์เซ็นต์, เกิน 100-500 ล้านบาท เก็บ 0.05 เปอร์เซ็นต์, เกิน 500-1,000 ล้านบาท เก็บ 0.07 เปอร์เซ็นต์ และเกิน 1,000 ล้านบาท เก็บ 0.1 เปอร์เซ็นต์

        2) ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของบุคคลธรรมดาให้เป็นที่อยู่อาศัยมีชื่อในทะเบียนบ้าน ไม่เกิน 25 ล้านบาท จัดเก็บ 0.03 เปอร์เซ็นต์ หากเกิน 25-50 ล้านบาท เก็บ 0.05 เปอร์เซ็นต์ และหากเกิน 50 ล้าน บาทขึ้นไป เก็บ 0.1 เปอร์เซ็นต์

        3) สิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่อในทะเบียนบ้าน ที่มีมูลค่า ไม่เกิน 40 ล้านบาท ภาษี 0.02 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเกิน 40-65 ล้านบาท เก็บ 0.03 เปอร์เซ็นต์ หรือเกิน 65-90 ล้านบาท เก็บ 0.05 เปอร์เซ็นต์ และเกิน 90 ล้านบาทขึ้นไป เก็บ 0.1 เปอร์เซ็นต์

        4) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย กรณีอื่นนอกจากอยู่อาศัยตามข้อ 2 และ 3 ที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท เก็บ 0.02 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเกิน 50-75 ล้านบาท เก็บ 0.03 เปอร์เซ็นต์ หรือเกิน 75-100 ล้านบาท เก็บ 0.05 เปอร์เซ็นต์ และเกิน 100 ล้านบาท จัดเก็บ 0.1 เปอร์เซ็นต์

        5) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากเกษตรกรรมและอยู่อาศัย ไม่เกิน 50 ล้านบาท เก็บ 0.03 เปอร์เซ็นต์, เกิน 50-200 ล้านบาท เก็บ 0.4 เปอร์เซ็นต์, เกิน 200-1,000 ล้านบาท เก็บ 0.5 เปอร์เซ็นต์, เกิน 1,000-5,000 ล้านบาท เก็บ 0.6 เปอร์เซ็นต์ หรือ เกิน 5,000 บาทขึ้นไป เก็บ 0.7 เปอร์เซ็นต์

        6) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ควรแก่สภาพ เก็บภาษี 0.3-3 เปอร์เซ็นต์ ของราคาประเมิน และเพิ่มขึ้น 0.3 เปอร์เซ็นต์ ทุก 3 ปี ต่อเนื่อง ไม่เกิน 27 ปี หรือจนกว่าจะมีการใช้ประโยชน์จากที่ดิน และจากข้อมูลของกรมพัฒนาที่ดินพบว่ามีที่ดินทิ้งไว้ไม่ได้ทำประโยชน์ทั่วประเทศ 8.31 ล้านไร่ จากที่ดินทั้งประเทศประมาณ 300 ล้านไร่

        และเพื่อบรรเทาภาระภาษี 3 ปีแรก ให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีสำหรับเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างบุคคลธรรมดาและใช้ประโยชน์เพื่อเกษตรกรรม นอกจากนี้กรณีต้องเสียภาษีสูงกว่าภาษีโรงเรือน หรือภาษีบารุงท้องที่ ให้ผู้เสียภาษีชำระภาษีในจำนวนที่เพิ่มขึ้นในปีที่หนึ่ง 25 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนภาษีที่เหลือ ปีที่สอง 50 เปอร์เซ็นต์ และปีที่สาม 75 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนภาษีที่เพิ่มขึ้น

        เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ประชาชนจะต้องรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนี้ ซึ่งก็ต้องทำความเข้าใจและเตรียมตัวกันด้วยนะคะ

เรียบเรียงโดย : thaihitz.com 


advertisement