advertisement

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ห่วงปี63 ค้าปลีกร่อแร่ต่อเนื่อง หวังรัฐช่วยดันเศรษฐกิจ


advertisement

      นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในปี 2562 ที่ผ่านมา มีสัญญาณการหดตัวขึ้นในทุกหมวดสินค้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ที่คาดว่าน่าจะเติบโตเพียง 2.6% (ภายในกรอบ 2.8-2.4%) จากการรวบรวมข้อมูลผลประกอบการ สมาคมผู้ค้าปลีกไทยคาดว่าอุตสาหกรรมค้าปลีก ปี 2562 น่ามีการเติบโตเพียง 2.8% ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่เติบโต 3.2% เป็นผลจากกำลังซื้อของผู้บริโภคเป็นไปในทิศทางเติบโต ต่ำกว่าที่ควรเป็น คาดว่าภาพรวมค้าปลีกการเติบโตในปี 2563 น่าจะไม่แตกต่างจากปี 2562

       การบริโภคภาคค้าปลีกค้าส่งอ่อนแอลงมาตลอด สาเหตุหลัก คือ กำลังซื้อกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ระดับกลางลงล่าง ที่ต้องอาศัยรายได้จากผลผลิตภาคเกษตรซึ่งยังคงมีกำลังซื้อที่อ่อนแออยู่ และรอการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐผ่านมาตรการต่างๆ รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่ยังไม่มีแนวโน้มลดลง สะท้อนให้เห็นในหมวดสินค้าไม่คงทน เช่น เครื่องดื่ม อาหาร ที่เติบโตลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ขณะที่ผู้บริโภคระดับกลางที่มีรายได้ประจำเริ่มแสดงให้เห็นถึงกำลังซื้อที่อ่อนแอลง ส่งผลให้การเติบโตการบริโภคหมวดสินค้ากึ่งคงทน เติบโตถดถอยลง เช่น เสื้อผ้า เครื่องสำอาง เครื่องหนัง รองเท้า นาฬิกา ซึ่งหมวดนี้เคยมีการเติบโตเฉลี่ยที่ 8-12% กลับเติบโตเพียง 3.2% ส่วนหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านก็แค่ทรงตัว และหมวดสินค้าวัสดุก่อสร้างก็ยังไม่ฟื้นตัวผลจากภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างที่หดตัวลง

        จากสาเหตุหลักของปี 2562 จะส่งผลไปจนถึงปี 2563 พร้อมยังมีปัจจัยลบที่อาจทำให้การบริโภคภาคค้าปลีกไม่เติบโตเท่าที่ควร ได้แก่ ผลกระทบจากการเลิกจ้างและลดการผลิต ปัจจัยภายนอกประเทศ ทั้งสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ที่กระทบคู่ค้าตลาดส่งออกทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย, การถูกสหรัฐตัดสิทธิประโยชน์ GSP สินค้าไทย อุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออกได้รับผลกระทบเต็มๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจากสถิติอุตสาหกรรมผลิตเพื่อการส่งออกและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง มีการจ้างงานราว 2.5 ล้านคน หรือราว 40% ของการจ้างงานภาคการผลิตทั้งหมด ปรากฏการณ์การปิดหรือการลดกำลังการผลิต การลดกำลังคน การยกเลิกโอที จนถึง การเลิกจ้างงาน อาจจะมีให้เห็นเป็นรายวัน และส่งผลให้กำลังซื้อภายในประเทศลดลงอย่างน่าตระหนกใจ

        นอกจากนี้ ผลจากภัยแล้งปี 2562 คาดว่ากระทบผลผลิตและรายได้ทางการเกษตรลดลง 16% จากปี 2561 สำหรับปี 2563 คาดว่ารายได้ทางการเกษตรจะทรงตัวหรือหดตัวเล็กน้อย ในกรอบ -0.5% ถึง 0.0% จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย รวมถึงผลกระทบจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ การประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำ วันละ 5-6 บาทต่อวัน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 มีผลกระทบโดยตรงต่อการจ้างงานภาคบริการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในธุรกิจร้านอาหาร ร้านค้าปลีกค้าส่ง และก่อสร้าง จะได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากยังต้องใช้แรงงานทักษะต่ำเป็นจำนวนมาก และไม่สามารถใช้เทคโนโลยีมาทดแทนได้


advertisement

       อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยบวกสำหรับปี 2563 จากมาตรการกระตุ้นจากนโยบายการคลังที่น่าจะออกมาเพิ่มอีก และการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2563 คาดว่าน่าจะผ่านการพิจารณาอนุมัติราวเดือน ม.ค. 2563 และการเบิกจ่ายคาดว่าน่าจะเริ่มเห็นผลราวปลายเดือนก.พ. หรือต้นเดือนมี.ค. 2563 ซึ่งงบประมาณที่จะถูกอัดฉีดเข้าไปในระบบภายใน 6 เดือน จะเป็นงบที่มาบรรเทาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวระยะสั้นได้ ตลอดจนนโยบายการเงินและนโยบายการคลังที่ยังมีช่องว่างให้สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ส่วนนโยบายทางการเงิน คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในไตรมาสแรกปี 2563 ขณะเดียวกันภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มเติบโตในปี 2563 นี้

      ยังไงก็เตรียมตัวรับมือเศรษฐกิจในปีหน้ากันเอาไว้ด้วย ติดตามข่าวและการใช้จ่ายก็ต้องระมัดระวังกันให้มากยิ่งขึ้น เศรษฐกิจอบบนี้น่าเป็นห่วงจริงๆ 


advertisement

เรียบเรียงโดย : thaihitz.com 


advertisement