advertisement

สร้างบ้านยกพื้นสูง ในบรรยากาศปลายนา ด้วยงบ 7 แสนบาท!!


advertisement

       บ้านเป็นศุนย์รวมของความสุข และเป็นจุดเริ่มต้นของอะไรหลายๆ อย่างสำหรับคนที่มีครอบครัว โดยวันนี้เรามีแบบบ้านสวยๆ งบไม่ถึงล้านบาท แต่ฟังก์ชันครบ โดยคุณ Hunter 2016 สมาชิกเว็บไซต์พันทิป เจ้าของบ้านได้ออกมาแชร์ประสบการณ์การสร้างบ้านในฝัน กับบรรยากาศปลายนา โดยได้เปิดเผยรายละเอียดว่า 

       สวัสดีครับ หลังจากที่ได้อ่าน บทความของหลาย ๆ ท่านมาก เพื่อหาความรู้ในด้านประสบการณ์ของแต่คนที่พบเจอมา ระหว่างการสร้างบ้าน ที่มีทั้งดีและร้าย ปะปนกันไป ตัวผมเองก็ได้สร้างบ้านได้สำเร็จมาแล้ว 1 หลัง และคงได้แค่หลังเดียวนี่แหละครับ เวลาที่เหลือคือผ่อนชำระเงินก้อนนั้นไปอีก 15 ปี (บ้านสร้างเสร็จเมื่อ วันที่ 28 กุมภาพัน 59 ) นับวันที่มาตั้งกระทู้ก็ปาไป 3 ปีแล้ว เพราะยังไม่มีเวลาว่างดี ๆ  ที่จะมานั่งลงข้อความกับรูป และอีกอย่าง 3 ปีที่ผ่านมาก็เก็บสะสมรูปถ่ายหลังจากสร้างเสร็จ ทั้งตัวบ้าน รอบ ๆ บ้าน รวมทั้ง วิวที่เห็นไกล ๆ จากตัวบ้านด้วย

      1. เหตุผลหลัก ที่สร้างบ้าน ก็คือ ครอบครัว หลังจากอยู่กันแค่ 2 คนมานาน ในหอพักแล้วก็ทำงานไปด้วย เลี้ยงแมว ไว้ 2 ตัว ก็ไม่ได้คิดอะไรมากอยู่ได้ชิว ๆ ไปวัน ๆ นึง แต่เมื่อรู้ว่ากำลังจะมีลูก จึงคิดว่าควรจะเริ่มทำอะไรบ้างแล้วเพื่ออนาคตของครอบครัว จากที่ไม่ได้อยากเป็นหนี้สินเลย (เป็นแค่หนี้ กยศ.) ก็ต้องเอาละวะ อารมณ์ผู้นำครอบครัวเข้าสิงร่างสิครับ หาทางเป็นหนี้เลย (ผมลืมบอกไปว่า ที่ดินที่ซื้อไว้ในราคา 1.5 แสนบาท 1 งาน หาไว้ตั้งแต่ภรรยาตั้งท้อง เป็นที่นา แต่ก่อนเป็นแต่ป่าหญ้าไร้คนสนใจ แต่ก็อยู่ไม่ไกลจากแหล่งความเจริญของ อ.เมือง)

      2. ไกลผู้คน ผู้คนส่วนมากกลัว ที่จะมาลูกบ้านตรงนี้เพราะที่รอบ ๆ นั้นก็ต่างมีเจ้าของกันหมดแล้ว แต่ก้ไม่มีใครปลูก ด้วยเหตุผลข้างต้นที่ผมได้บอกไปนั่นแหละครับ ส่วนภรรยาผม ขอบอกว่านางชอบมากเงียบสงบมีแต่วัวกับท้องนารอบบ้าน ส่วนผมไม่ต้องบอกชอบฝุด ๆ ผมหลงไหลในธรรมชาติเขียว ๆ ลมพัดยอดข้าว นั่งโง่ ๆ หายใจทิ้งในวันหยุด อารมณ์ประมาณ รีสอร์ตยังไงยังงั้นเลย เท่าที่วาดฝันไว้

     3. ตั้งใจไว้ว่าเป็นบ้านปูนยกพื้น มีระเบียงโล่ง ๆ ครั้งแรกที่ให้ช่างออกแบบ อยู่ใน งบ 6 แสนบาท (ค่าเขียนแบบ 1500 เพื่อนมันไปให้เพื่อนเขียนให้อีกที)  แต่เอามาจริง ๆ ตอนหาช่างก่อสร้าง หาอยู่ 3 เจ้า  เจ้าแรก ตีราคาเป็น 2 ชั้นเลย 8 แสนครับน้อง แต่ถ้าจะเอาเท่านั้นลดให้ได้แต่พี่จะจัดการเรื่องวัสดุเองทุกอย่าง หน้าต่างประตู เป็น PVC อะไรแบบนั้นนะ  นั่นไงเกินงบไปตั้งเยอะ (คือผมกู้มา 1.2 ล้าน แบ่งไปปิดหนี้ กยศ. ทั้ง 2 คน จัดการบัตรเครติด เก็บไว้ 1 ส่วนเพื่อเป็นทุนสำรอง เหลือ 6.5 แสนเป๊ะ โดยที่เงินนี้ไม่ได้เอาไป ซื้อแม้แต่ขนม 1 ห่อ)  ช่างคนที่ 2 เป็นคนรู้จักกัน แต่ช่างอยู่ไกล ต้องจ่ายค่าน้ำมันรถให้นะ คิดไปคิดมาผมว่าไม่คุ้มละ  มาลงเอยกับช่างคนที่ 3 เป็นคนพื้นที่ มีผลงานสร้างบ้านไว้ให้หลายคน แกคิดแต่ค่าแรง ส่วนอุปกรณ์ต่าง ๆ แกมีพร้อมหมด สั่งให้ได้   ช่างชื่อ ลุงธรรณ์  (คนพะเยาครับ) และบ้านผมก็อยู่ที่พะเยา ภาคเหนือของไทยเรานี่แหละ

เริ่มที่ภาพแรกนะครับผมตั้งชื่อบ้านว่า Yellow House ความหมายตรง ๆ แบบนี้เลย

เมื่อฤดูฝนที่ผ่านมาของปี 61 ปล. ภาพใช้ iPhone6 panorama mode + LR นะครับ

เป็นภาพที่ตื่นเช้ามาดูถนนว่า รถจะออกไปได้ไหมเนื่องจากฝนลงอย่างหนักเมื่อคืน ดินเละ ๆ ที่ด้านขวาของภาพนั่นคือที่ถนนนะครับ ^_^ 

ภาพที่ 2
2 คนนี้คือเหตุผลทั้งหมดของการสร้างบ้านหลังนี้ครับ


advertisement

ที่ดินเละ ๆ กลายเป็นที่นั่งเล่นหน้าบ้าน ที่เรียนรู้ของลูกชาย โคลน ดิน หญ้า แมลง ท้องฟ้า เมฆ ฯลฯ อยู่กันแบบไม่มีรั้วนี่แหละ

เพราะงบหมดแว้วววว

ภาพที่ 3

แบบบ้านบนกระดาษ ที่ร่าง ๆ เอาไว้ ในที่สุดก็สามารถหาช่างที่เราโอเคได้ เอาให้ดูว่ามันออกมาในลักษณะนี้

เพื่อลดภาระการสร้างที่จอดรถ ที่ตากผ้า ที่เก็บของ ผมกับภรรยาคุยกันไว้แบบนี้ (ถามความเห็นภรรยา 555)


advertisement

4

ขนาดบ้านถอดออกจากแบบที่ช่างเขียนให้มาเลย สุดท้าย พื้นที่ยกพื้น 2 เมตรนั้น กลายเป็นว่าพื้นสูง 2 เมตรจริง แต่เวลาเดินเข้าหัวจะชนคานของตัวบ้าน ที่ต้องยื่นลงมา และห้อง 3.5 x 3.5 เมตร ดูแล้วช่างว่ามันเล็กไปนะ ผมลยขยายเพิ่มในทุกห้องให้ยาวเป็น 4 x 3.5 เมตร พร้อมกับงบที่เพิ่มขึ้นมา 1 แสนบาท เลยต้องโทรไปรบกวนท่านแม่ ขอยืมเงินหน่อยกันเลยทีเดียว

ภาพที่ 5

ลงมือสิครับ ถมที่มาได้ 10 กว่าเดือนผ่านฝนมาแล้ว ดินแน่นแล้ว ไฟฟ้า ขอพ่วงไฟจากบ้านหลังสุดท้ายที่เห็นไกลลิบ ๆ หลังรถสีขาว เจาะน้ำใต้ผิวดินตรงมุมของที่ดิน มาเพื่อใช้สร้างบ้าน โดนค่าเจาะรวมอุปกรณ์ 7,000 บาท ไม่เจอน้ำไม่ต้องจ่าย 5,000 ค่าปั๊มน้ำแบบถังกลม ระหว่างนี้วนเวียนไปมาก็ หอพัก บ้านต่างอำเภอ(ภรรยาลาคลอดไปอยู่กับยาย) ทีทำงาน และก็ที่ก่อสร้าง


advertisement

ภาพที่ 6

ผ่านเรื่องโครงสร้างพื้นฐานไปเลยนะครับ เพราะทุกคนคงอ่านเจอกันมาบ่อยแล้ว ภาพนี้เป็นตัวบ้านชั้นบน ที่ใช้อยู่อาศัยเลยครับ แผ่นสำเร็จรูปตามขนาดของบ้านเลย ช่างสั่งไป เอามาลงให้ เชื่อมเหล็กติดกันเรียบร้อย รอการเททับ คือลุงธรรณ์ ช่างที่รับเหมานี่ ผมให้ใจเลยครับ แกซื่อตรงมาก แถมมีประสบการณ์ มืออาชีพมาก ๆ หลังจากนั้นมาผม จ่ายเงินให้แกอย่างเดียวเลย

ภาพที่ 7

ห้องครัวผมเน้นเลย ที่ล้างจานต้องโดนแสงส่องถึง กลัวขึ้นรา และที่สำคัญ ปลั๊กไฟ ในห้องครัวนี้ มีอยู่ครบทุกมุมเลย เพราะไม่อยากโยงสายลากพ่วง ซึ่งผมไม่ชอบเลย รกดูไม่สวยงาม แถมอันตราย แพลนต่าง ๆ จึงต้องคิดไว้ให้หมดเช่นที่วางเตาแก๊ส ก็ต้องติดที่ดูดควันไปเลยทีเดียว เพราะหากมาทำทีหลังคงยุ่งยากกว่าเดิม และเสียค่าใช้จ่ายไม่น้อยแน่ ๆ ฝาซิ้งค์ เป็นพลาสติก(ราคาถูกสุดละ)แต่มันทำความสะอาดง่ายดีนะ  ที่วางถังแก๊สก็อยู่ในซิ้งค์เลย เพื่อความสวยงาม เตาแก๊สแบบฝัง+ที่ดูดควัน จัดมายกชุดเลย จาก Home Pro ราคา 1.1 หมื่นบาท ที่ล้างจาน 2 หลุมพร้อมที่วางจาน (ผมจำราคาไม่ได้)


advertisement

ภาพที่ 8

ห้องนอนอยู่ทิศตะวันออก เพื่อรับแสงเช้าและหนีแสงยามบ่าย เพราะถ้าห้องอยู่ทางตะวันตก แดดตอนบ่ายจะแรงมาก ๆ ในห้องก็จะร้อนน่าดูเนื่องจากสะสมความร้อนไว้ แต่ผมก็แก้ปัญหาโดยการติดพัดลมดูดอากาศ+สวิทที่ผนัง ของทุกห้อง ส่วนห้องนั่งเล่นจะเป็นพัดลมที่มีขนาดตัวใหญ่หน่อย ในความคิดผมนะ เรื่องนี้โคตรสำคัญเลยสำหรับการถ่ายเทอากาศของภายในบ้าน เสียงอาจจะดังหน่อยตอนเปิด แต่ก็อยู่ในกรณีที่รับได้ เดินสายไฟเผื่อติดแอร์ในอนาคตด้วยเรียบร้อย

ภาพที่ 9

ช่องที่ฝาผนังคือเว้นเอาไว้สำหรับติดตั้งพัดลมดูดอากาศออกนะครับ เดินปลั๊กไฟไว้รอเลยทีเดียว หลังคาเป็นเมทัลชีท แบบหนา+ฉนวนกันความร้อน เพื่อความประหยัดงบครับ อีกอย่างผมว่ามันเร็วดี ประหยัดได้หลายอย่างเลย รวมถึงตัวบ้านไม่รับน้ำหนักมากด้วย เสียงดังเวลาฝนตก ผมก็รับได้อีกนั่นแหละ

ภาพที่ 10

ระเบียงหน้าบ้านต่างจากแบบจริงไปนิดนึงเพราะทำที่นั่งที่หน้าบ้านเพิ่มเติม 2 ด้าน เอาไว้นั่งชิวกินลมหนาว(แต่พอฤดูหนาวไม่นั่งเพราะมันหนาวมาก)
ปลั๊กไฟด้านนอกตัวบ้าน จัดไป 2 จุด เพราะไม่อยากลากสายพ่วงจากในบ้านออกมาด้านนอกเวลาจะใช้งานอะไร และ ที่สำคัญผมเดินสายไฟแบบฝังในผนัง ไหน ๆ ก็ฝังท่อเดินสายไฟมาแล้ว เหมือนยิงปืนนัดเดียว ได้นก 2 ตัว  ทุกจุดหากเป็นไปได้ก็จะวางปลั๊กไฟไว้ทั้ง 2 ด้านเลย

ภาพที่ 11

ใกล้สำเร็จแล้ว ช่างทำงานละเอียดมาก และผมก็ไม่รีบด้วย ผนังทาสีรองพื้น ปลั๊กไฟ TV ติดผนัง+จุดเชื่อมต่อสายอากาศ TV Digital (เดินสายไว้พร้อมกับสายไฟและเอาเสาก้างปลาไปไว้ที่หลังห้องครัว) ผมซ่อนไว้หลัง TV หมดเลย สายจะได้ไม่รกรุงรัง หน้าต่างจากขอบพลาสติก เป็น อลูมีเนียมแบบบานเลื่อน 8 จุด รอบบ้าน + ประตูกระจกแบบสวิงเข้าออกทั้งบาน (ขนาด1.20 เมตร) โดนไป 45,000 บาท รวมถึงมุ้งลวดในห้องน้ำ

ภาพที่ 12

ห้องน้ำ ก็แบ่งโซนแห้ง-เปียก เป็นห้องเล็ก ๆ แต่ค่าใช้จ่ายนี่บอกได้ว่าไม่เล็กเลย มันแพงกว่าทุกห้องในบ้านครับ ของทุกอย่างในนี้ สอยมาจาก HomePro

เหตุผลเพราะว่าของเขาการันตีคุณภาพ ราคาของข้างนอกก็ถูกกว่ากันไม่กี่บาท ปูพื้นทั้งบ้าน ห้องน้ำทั้งหมด

***เคล็ดลับคือ หากเราซื้อถึงยอดที่เขาจะลดแล้วใช้ซื้อครั้งต่อไปได้ หรือสะสมแต้มมาซื้อได้ ผมก็ซื้อให้ถึงแล้วให้เขาตัดบิล+ได้ส่วนลด  เอามาลดบิลถัดไปทีเดียวเลย (ภรรยาผมเธอคำนวนให้ ช่างฉลาดล้ำ) ผู้ชายต้องยอมเรื่องแบบนี้ครับ 555

ที่จริงว่าพื้นที่ปูด้านข้างพอแล้วแต่กระเบื้องมันเหลือเลยปูขึ้นไปอีกแผ่นนึงจนต้องตัดเว้นว่างที่ติดพัดลมและช่องระบาย ความสวยสะดุดเลยตรงนี้ผมพลาดเองตอนนี้สายไฟตรงนั้นเก็บใส่กล่องเรียบร้อยแล้ว

ภาพที่ 13

เบอร์สีของบ้าน ต้องเอามาจากในเว็บ คือเหลืองมันอธิบายไม่ได้ครับ ถ่ายรูปมาให้ช่างดูสีมันก็เพี้ยนอยู่ดี ในแคตตาล๊อกที่ช่างเอามาให้ดูก้ไม่มีที่เราคิดไว้ เปิดเว็บดูถ่ายรูปมาให้เลย ง่ายดี  เป็นของ Beger รหัสสี ก็ตามภาพครับ

ภาพที่ 14

โทนสี ผมเอาง่าย ๆ ที่ดูสบายตา เหลืองตัดกับดำสวย แต่บ้านกลางทุ่งตัดกับขาว เป็นสีที่สามารถตัดได้กับหลาย ๆ สีของธรรมชาติ เขียวท้องนา ฟ้าของท้องฟ้า ฟ้าแดง ๆ ตอนเย็น ก็ตัดได้ นี่เป็นเหตุผลหลัก ๆ ที่เลือกสีเหลืองสำหรับผมเลยครับ ฝ้าหลังคารอบบ้านก็มีปล่องระบายอากาศเล็ก ๆ ไว้ อันนี้ช่างเขาทำให้และแนะนำมา

ภาพที่ 15

ขั้นตอนปูพื้นบ้านโดนมาจาก HomePro ครับ สอยของที่เขาจัดโปรเช่นเคย กระเบื้องไม่เสียสักแผ่น (ส่งให้พรีแบบข้ามจังหวัดด้วย ผมซื้อรวมทีเดียว)
เลือกสีที่ดูเปื้อนยากหน่อย ได้ลายไม้มามันดูกลมกลืนกับสีกันเปื้อนในตัวบ้านด้วย ส่งผลถึงการเลือกสีผ้าม่าน ตัดสองสี คือเหลืองอ่อนตัดกับสีน้ำตาล
แค่นี้ก็ดูลงตัวแล้วครับหลาย ๆท่านอาจจะเลือกสีฉูดฉาดตามความชอบแต่ผมเลือกความลงตัวและเข้ากันได้ดีของสีมากกว่าครับ

ภาพที่ 16

ห้องครัว เรียบร้อยพร้อมใช้งาน  ทำท่อระบายน้ำเครื่องซักผ้าไว้ตรงมุม พร้อมกับก๊อกน้ำ

ภาพที่ 17

ห้องนั่งเล่นพร้อม

ภาพที่ 18

ห้องนอนด้านหน้าบ้าน เห็นนอกหน้าต่างเป็นระเบียง

ภาพที่ 19

บ้านเสร็จในช่วงฤดูฝน มีพายุพัด ถือเป็นการทดสอบการรั่วหรือจุดปัญหา ตรงนี้คือผมต้องเจาะรูระบายขอบหน้าต่าง(จุดที่เป็นสันรางล้อของหน้าต่าง) เพื่อช่วยระบายให้ไวขึ้น เพราะลมพัดแรงอัดเข้ามา น้ำบนพื้นตามภาพ เรียบร้อยหมดปัญหา

ภาพที่ 20

ไม้ประตูขยายตัว ปิดยาก เป็นโอกาสดีในการแก้ไข ถอดมาทั้งบาน ลุงธรรณ์ เอาเครื่องมาใสไม้ออก ด้านบน+ด้านข้าง ปรับแต่งกันจนพอดี 
ประตูบานไม่แพงจาก HP ขอบประตู ช่างธรรณ์  จัดให้  สีทาขอบประตูก็ไม่ต้องซื้อ ใจดีมาก

ภาพที่ 21

ใต้ถุนบ้าน จอดรถสบาย ๆ ตากผ้าสบาย ๆ น้ำที่เห็นนั่นคือฝนสาดเข้ามา

ภาพที่ 22

The Final ในที่สุดก็เสร็จ

รายละเอียดค่าใช้จ่ายช่วงนั้นผมทำบัญชีไว้ยิบเลยครับ เพื่อจะได้รู้ทุนที่แท้จริง

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ในการสร้างบ้าน คือ 

1. การรับเหมา ดีกว่าการจ้างรายวันครับ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละช่างด้วย)

ซึ่งการจ้างรายวันนี้ มันทำให้ทุนของเราไม่แน่นอน เพราะงานช้าเงินก็ออกไปมาก ยิ่งวัฒนธรรมทางเหนือ ทำงานเสร็จเย็นต้องเลี่ยงเหล้าเลี้ยงข้าวอีก มื้อนึงหมดเกือบพันแน่นอน ซึ่งเงินเหล่านั้นหมายถึงบ้านเรา 

2. ถ้าเป็นญาติกัน ก็พาลจะเสียความรู้สึกไปเลย ทำงานไม่เต็มที่แต่เบิกค่าแรงเต็ม จะว่าก็ติดในใจอย่างที่รู้กัน  ติงานก็ยากบอกให้แก้ไขก็จะว่าเรานี่เรื่องมากอีก  ไม่ควรครับ(ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับบุคคลเช่นกัน)

3. การทำงานต้องชัดเจน รู้ถึงฝีมือของช่างด้วยว่าช่างถนัดแนวไหน ไม่ใช่อยากได้บ้านสไตล์ที่มีส่วนโค้งเยอะ ช่างก็ต้องเหมาะกับงานนั้นด้วย เพราะหากเขาไม่ชำนาญ ก็ต้องมาปวดใจทีหลังกับคำว่า " รู้งี้ "

4. ห้ามใจตัวเองให้มาก ต้องมั่นคง ไม่ใช่ระหว่างสร้างบ้านเดี๋ยวก็เพิ่มนั่นนี่เข้าไปมากมาย จนผู้รับเหมาถอนหายใจเฮือกใหญ่ ๆ  เฮ้อ……ยิ้ม

5. ไว้ใจช่าง เรื่องการซื้อของ ช่างซื้อได้ถูกกว่าเราไปซื้อเองมาก อิฐ หิน ทราย ปูน งี้ ลดค่าใช้จ่ายได้พอสมควรครับ เพราะบางคนกำเงินเองทั้งหมด อยากได้อะไรบอกจะไปซื้อให้ แบบนี้ บางทีใบเลื่อยใบเดียวทั้งที่ช่างมีแต่เขาไม่เอามาซะ กลายเป็นอุปกรณ์เหล่านี้เราต้องใช้เงินเราซื้อเองทั้งหมด ซื้อใจกันครับ (ขึ้นอยู่กับช่างครับ) เทียวไปซื้อเองทีละอย่าง เสียเวลา เสียค่าน้ำมัน ร้อนเหนื่อยเปล่า ๆ

ภาพที่ 24 เด็กน้อยครับ

ภาพที่ 25 บันไดขึ้นบ้าน จอดรถแล้วลอดใต้ถุนมาขึ้นบันไดได้เลย ไม่มีเปียกฝน

ภาพที่ 26 ทิศตะวันตก โดนแดดเต็ม ๆ โดนฝนสาดเต็ม ๆ ครับด้านนี้ รอบบ้านยังเป็นดินเปล่า ๆ ฝนทีนึงเดินไม่ได้เลยทีเดียว

ภาพที่ 27 ที่ข้างบ้านได้บรรยากาศลูกทุ่งมาก เลี้ยงวัว สุดแปลงตรงนั้นเป็นร่องน้ำสาธารณะสำหรับทำนา 

ภาพที่ 28 เข้าสู่ฤดูฝน ภาพนี้ มีทั้งดวงจันทร์ + ดวงอาทิตย์ ในภาพเดียวกัน ตะวันลับขอบฟ้าที่ดอยหลวงพะเยาครับ

ภาพที่ 29 ฝนลงเม็ด ถ่ายจากระเบียงบ้าน

ภาพที่ 30 ปีนั้นน้ำท่วมนากันเลยทีเดียวครับ 4 แยกหลักก็ท่วมด้วย แต่บ้านผมสูงกว่าระดับน้ำพอดี มิดยอดข้าวเลยทีเดียว

ภาพที่ 31 ก็จะได้วิวประมาณนี้ครับ 

ภาพที่ 32 ปัจจุบัน ทำรั้วแล้ว เน้นโปร่ง โลกสบาย ที่สำคัญรั้วแบบนี้ ราคาไม่แพงด้วยครับ 30,000 ระยะ 100 เมตร + ประตู

ภาพที่ 33 ช่วงนาทีทองของตอนเย็นในฤดูฝนเลยล่ะครับ

ภาพที่ 34 บางค่ำคืนก็จะออกมาถ่ายรูปฝนดาวตกเก็บไว้บ้างครับ

ภาพที่ 36 สุดท้าย 

การสร้างบ้านมันก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตครอบครัว ถึงแม้สร้างไว้หลังใหญ่แค่ไหน ราคาเท่าไร แทบไม่มีความหมายหากไม่ได้อยู่อาศัย หากยังยุ่งกับธุระของตัวเองจนลืมเวลาให้ครอบครัว ท้ายสุดมันก็ไม่ได้มีความหมายเท่ากับการที่ผู้อยู่อาศัยในบ้านหลังนั้น ที่จะมีความสุขหรือเปล่า ผมเชื่อมั่นได้เลยว่าความสุขมันเริ่มจากข้างใน ในทัศคติที่มอง การแสดงออกมาของตัวตนมันก็จะส่งผลถึงตัวบ้านด้วยเช่นกัน 

ขอขอบคุณพื้นที่ตรงนี้ และทุกท่านที่แวะเข้ามาอ่านหรือเลื่อนผ่าน ๆ นะครับ

         เห็นบ้านและบรรยากาศแล้วต้องบอกเลยว่าสวยและลงตัวมากๆ ใครที่อยากมีบ้านหลังเล็กๆ งบไม่เยอะก็ลองดูไว้เป็นไอเดียได้นะคะ 

ขอขอบคุณที่มาจาก : Hunter 2016  


advertisement