advertisement

แชร์ประสบการณ์ สร้างบ้านหลังแรกร่วมกับสถาปนิก-ผรม.ยังไง ไม่ให้ปวดหัว


advertisement

        การสร้างบ้านสักหลังเป็นอะไรที่ต้องบอกเลยว่าต้องรอบคอบสุดๆ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผน การวางแบบ ต้องทำงานร่วมกันกับสถาปนิค ผู้รับเหมา เพื่อที่จะให้ได้บ้านที่ต้องตามความต้องการมากที่สุด วันนี้เราจะพาไปดูประสบการณ์ในการสร้างบ้านยังไงให้ไม่ปวดหัว จากทางด้านสมาชิกพันทิป hola_mundo  เป็นยังไงนั้นตามไปดูกันเลยครับ

        สวัสดีค่ะ วันนี้ตั้งใจมาเล่าประสบการณ์การสร้างบ้านหลังแรกในชีวิต และการทำงานร่วมกับสถาปนิกและผู้รับเหมา เผื่อจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆที่กำลังวางแผนจะสร้างบ้านนะคะ 

        เนื่องจากสไตล์บ้านที่เราสองคนชอบไม่มีขายตามบ้านจัดสรรทั่วไป (หรือมีก็แพงมากกก หลายสิบล้าน สู้ราคาไม่ไหวแน่ๆ)  จึงเป็นที่มาของการว่าจ้างสถาปนิกให้ออกแบบ โดยตีความตามโจทย์ที่เราให้ไป กระทู้นี้แบ่งออกเป็น 3 ตอน ก่อนสร้างบ้าน (เป็นช่วงเวลาที่เจ้าของบ้านทำงานอย่างหนัก) ระหว่างสร้างบ้าน (สถาปนิกและผู้รับเหมาประสานพลังโชว์ของ) และหลังเข้าอยู่ (ฟีดแบคเกี่ยวกับบ้านหลังการได้เข้าอยู่จริง) ขอบอกก่อนว่า เราไม่ใด้ร่ำรวยอะไรเลย เป็นชนชั้นกลางมนุษย์ทำงานทั่วไป มีงบในการทำบ้านไม่มาก โดยเงินที่สร้างบ้านก็มาจากการกู้ธนาคาร โชคดีตรงที่มีที่ดินเป็นของตัวเอง เลยเบาภาระตรงนี้หน่อย ถ้าพร้อมแล้วไปกันเลยค่ะ

        บ้านฟ้าบ่กั้น ที่ตั้ง: จ.ขอนแก่น พื้นที่ใช้สอย: 235 ตรม. (4 ห้องนอน 3 ห้องน้ำ) งบประมาณการก่อสร้าง: 4 ล้านบาท (ไม่รวม built-in)

       1. ก่อนสร้างบ้าน 

        1.1 หาสไตล์บ้านที่ชอบ ตั้งแต่ตัดสินใจกับแฟนว่าจะสร้างบ้าน เราสองคนใช้เวลาในการหาข้อมูลอยู่ปีครึ่ง หากรู้สไตล์บ้านที่ชอบอยู่ก็ย่นเวลาตรงนี้ได้เลยนะคะ โดยเราและแฟนจะทำการบ้านของตัวเองว่าบ้านที่ชอบเป็นแบบไหน หลังจากนั้นก็จะมาคุยกันว่าแนวทางที่เราสองคนชอบเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ ก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โชคดีที่เราสองคนชอบอะไรคล้ายๆกัน เลยเถียงกันไม่มาก (แต่ก็ไม่น้อย 555)  แนะนำให้โหลดแอป Pinterest มาใช้ดู เพราะมีไอเดียทำบ้านสวยๆเยอะมาก หลายสไตล์ มีทั้งของไทยและเมืองนอก ใครที่กำลังสร้างบ้านอยู่แนะนำเลยค่ะ สร้างบัญชีผู้ใช้ แล้วก็พิมพ์หาแนวทางบ้านที่ชอบได้เลย โดยเราสามารถเซฟภาพแล้วตั้งเป็นอัลบั้มแบ่งเป็นห้องๆได้ พอจะคุยเรื่องบ้าน ก็เปิดรูปที่เซฟไว้ขึ้นมา เนื่องจากการสร้างบ้านมีรายละเอียดเยอะมาก เพราะฉะนั้นเราต้องตัดสินใจเรื่องต่างๆเยอะมาก จะเอาสไตล์ไหน วัสดุอะไร ตั้งแต่หลังคา ยันประตู หน้าต่าง สี ระเบียง บันได ฯลฯ (ยกเว้นว่าเรายกให้สถาปนิกจัดการให้หมดเลย) ดังนั้น แนะนำว่าให้ทำการบ้านตรงส่วนนี้ดีๆ และเตรียม รูป reference ไว้

         1.2  ลิสต์ functions/ความต้องการให้ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด คิดว่าใครๆก็เป็นค่ะ ก่อนสร้างบ้านอยากได้ห้องต่างๆมากมาย อยากมีมุมตรงนู้นตรงนี้เอาไว้รับแขก บ้างอยากมีสระว่ายน้ำ มีเรือนเพาะชำ มีสนามหญ้ากว้างๆ มีบ่อปลา ฯลฯ ถ้ามีงบไม่จำกัด จัดเลยนะคะ  แต่หากงบมีจำกัด เราต้องตัดทอนเหลือเท่าที่จำเป็นเท่านั้น (ถ้าตัดใจไม่ได้ แนะนำให้แบ่งทำเป็นเฟสๆ เช่น อีกสองสามปีให้หลัง หรือถ้าสร้างเสร็จแล้วเงินเหลือ ค่อยทำเพิ่มก็ได้ ) นอกจากนี้ อย่าลืมคิดเรื่องการดูแลรักษาหลังบ้านสร้างเสร็จด้วยนะคะ เช่น ใครจะรดน้ำต้นไม้ ใครจะตัดหญ้า เพราะบอกเลยว่าการดูแลสวนเหนื่อยเอาการเลยค่ะ


advertisement

        วิธีคำนวนราคาค่าก่อสร้างคร่าวๆคือ พื้นที่ใช้สอย (ตรม.) x ค่าก่อสร้าง เฉลี่ยอยู่ที่ 16,000-25,000 บ. ซึ่งขึ้นอยู่กับเกรดของวัสดุ ก็จะได้ราคาบ้านหนึ่งหลัง เช่น หากบ้านมีพื้นที่ใช้สอย 200 ตรม. ก็จะตกประมาณ 3.2- 5 ล้าน) โน้ตว่า อันนี้เฉพาะค่าก่อสร้างที่เป็นตัวบ้านอย่างเดียวนะยังไม่รวมค่าถมดินก่อนสร้าง ค่าทำถนนเข้าบ้าน ค่าติดม่าน-มุ้งลวด ต้นไม้ (บ้านของเราเอาไม้ล้อมมาลง 7 ต้น) ค่าทำสวน ทำรั้ว ค่า Built-in ฯลฯ  ดังนั้น เจ้าของบ้านควรจะกันเงินไว้อีกประมาณ 30-40% เพราะจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเข้ามาอีกหลายรายการที่เราอาจจะไม่ได้คิดรวมเข้าไปในตอนแรก นี่แหละค่ะ มันจะบานก็ตรงนี้ ดังนั้น อะไรที่ตัดหรือรอได้ ให้ตัดออกตอนนี้เลยค่ะ


advertisement

        1.3  หาความรู้เรื่องการสร้างบ้าน ขอบอกว่าเราอ่านกระทู้ ตามเพจ และดูรายการเกี่ยวกับการสร้างบ้านไปเยอะมากกก เวปไซต์ที่มีแบบบ้านสวยๆก็มีหลายเวปเลย ที่เข้าไปดูบ่อยๆก็จะเป็นบ้านและสวน และเพจ Dsign Something เพจนี้จะทำเป็นคลิปวิดิโอสั้นๆสัมภาษณ์สถาปนิกด้วยค่ะ เราชอบมาก เพราะได้ฟังแนวคิดเบื้องหลังการออกแบบ 

        หลายกระทู้ที่ได้อ่านก็ทำให้กังวลใจเหมือนกัน เช่น เรื่องผู้รับเหมา หลายคนเจอทีมไม่ดี ไม่รับผิดชอบ ทิ้งงาน หรือมารู้ตัวอีกทีหลังเข้าอยู่แล้ว ตามซ่อมบ้านไม่มีวันเสร็จ อ่านแล้วก็ใจตุ้มๆต่อมๆมากค่ะ นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่เราตัดสินใจจ้างสถาปนิก เพราะสถาปนิกจะช่วยคุมงานก่อสร้างและช่วยดีลกับผรม. เพื่อให้งานออกมาดีแบบที่ควรจะเป็น

        เนื่องจากการสร้างบ้านมีรายละเอียดเยอะ บางเรื่องเราก็ไม่ถนัด ก็จะแบ่งงานกับแฟนค่ะ เช่น ให้แฟนดูเรื่องน้ำ-ไฟ หรือติดต่อราชการต่างๆนานา (เพราะแฟนจะใจเย็นกว่าเรามาก 555)  ส่วนเราจะดูเรื่องทำจ่ายเงิน ฯลฯ ที่เขียนเล่ามาไม่ได้จะทำให้ท้อใจนะคะว่าทำไมรายละเอียดเยอะจัง ส่วนตัว มองว่าสนุก และได้ความรู้ใหม่ไปด้วยค่ะ และที่สำคัญจะได้คุยกับสถาปนิก ผรม. และช่างหน้างานได้รู้เรื่อง อาจจะไม่เข้าใจหมดทุกขั้นตอน แต่อย่างน้อยพอรู้เรื่องบ้างก็ยังดี ค่อยๆอ่าน ค่อยๆหาความรู้ไปนะคะ เพราะกว่าบ้านจะเสร็จก็อย่างน้อยปีสองปี มีเวลาเหลือเฟือเลยค่ะ 

        1.4  หาสถาปนิก เมื่อได้ไอเดียบ้านที่ต้องการแล้ว ก็เริ่มมองหาสถาปนิก เนื่องจากบ้านที่จะสร้างอยู่ที่จ.ขอนแก่น โจทย์ของเราคือต้องเป็นสถาปนิกที่อยู่ในขอนแก่น (ถ้าหาไม่ได้จริงๆก็ต้องอยู่จ.ใกล้เคียง) เพราะเราอยากให้สถาปนิกมาคุมงานก่อสร้างได้อย่างใกล้ชิด สารภาพค่ะว่าใช้เวลาในการหาอยู่นานมากกก เพราะบ้านที่เห็นลงตามเพจหรือนิตยสารส่วนใหญ่ สถาปนิกมักจะอยู่ที่กรุงเทพฯหรือเชียงใหม่ซะส่วนใหญ่

        หลังจากหาจนตาแฉะ ก็มาเจอบ้านที่ทำให้เรารู้สึกคลิ้กมาก เป็นบ้านไม้หลังหนึ่งในขอนแก่น เราอ่านจบ รีบส่งลิ้งค์ให้แฟนดู แฟนบอกโอเค เรารีบโทรหาสถาปนิกเลยค่ะ วันที่ได้เจอกันครั้งแรก อยากบอกว่าตื่นเต้นมากๆ เพราะรอวันนี้มานาน หลังจากได้พูดคุยในเรื่องแนวทางการสร้างบ้าน สไตล์การทำงานของสถาปนิก ดูท่าว่าน่าจะไปกันได้ (ตรงนี้สำคัญเพราะสถาปนิกบางคนก็จะทำบ้านแบบที่ตัวเองถนัด  บ้านบางแบบสถาปนิกอาจจะไม่รับ หรือเจ้าของบ้านดูเอาแต่ใจ ไม่ฟังความเห็นของสถาปนิกเลย ทำงานกันคงลำบากใจ สถาปนิกปฏิเสธไม่รับงานก็มี หรือเรตราคาค่าเขียนแบบสูงเกิน ซึ่งเราเตรียมใจมาพอสมควรว่าราคาก็น่าจะสาหัสอยู่ ก็เลยโอเค) สุดท้าย สถาปนิกตกปากรับคำว่าจะรับงานนี้  

        แต่…. “มีข้อแม้คือต้องรออีก 7 เดือนนะครับ เพราะตอนนี้ผมอยู่ระหว่างหยุดรับงาน พอจะรอไหวมั้ยครับ” อึ้งไปอยู่แพร้พนึง แต่ไม่เป็นไร หาสถาปนิกมาเป็นปี รออีก 7 เดือนจะเป็นไร ที่สำคัญใช้เวลานี้เก็บเงินไปด้วยค่ะ 

         2. เริ่มสร้าง: เมื่อแบบบ้านเริ่มก่อรูปก่อร่าง

        2.1 สถาปนิกดีมีชัยไปกว่าครึ่ง หลังจากรอคิว(ทอง)ของสถาปนิกเจ็ดเดือนเต็ม ก็ได้ฤกษ์นัดเซ็นสัญญาและพูดคุยถึงความต้องการในการสร้างบ้านอย่างละเอียด โดยสถาปนิกจะมีใบมาให้กรอกว่าเราต้องการบ้านกี่ห้อง ห้องอะไรบ้าง มีคนอยู่อาศัยกี่คน ฯลฯ และให้ส่งรูปบ้านที่ชอบ หลังจากพูดคุยเสร็จเราก็พาสถาปนิกมาดูสถานที่ที่จะสร้างจริงด้วย เพื่อให้ได้เห็นบรรยากาศโดยรอบ โดยสถาปนิกก็จะเริ่มวางแผนการก่อสร้างคร่าวๆไปเลย เช่น ทีมก่อสร้างจะเดินทางเข้าออกไซต์สะดวกมั้ย สร้างที่พักให้คนงานได้หรือไม่ เป็นต้น


advertisement

        เนื่องจากเตรียมตัวมา 2 ปีเต็ม เราจึงพร้อมมาก (สถาปนิกแอบตกใจพอเห็น ppt ของเรา 555)  นอกจากให้ข้อมูลตามที่ขอ เรายังส่งภาพห้องแต่ละห้องที่ต้องการไปด้วย เพื่อให้สถาปนิกรู้จักตัวตนของเราและแฟนมากที่สุด เราสองคนให้ความสำคัญตรงจุดนี้มาก เพราะหากเราสื่อสารไม่ชัด สถาปนิกจะไม่สามารถตีโจทย์บ้านที่เจ้าของบ้านต้องการออกมาได้ ดังนั้น ชอบอะไร ไม่ชอบอะไรต้องบอกสถาปนิกไปตรงๆ

        ในส่วนคอนเซ็บต์ของบ้านที่ให้บรีฟสถาปนิกไป คือ อยากได้บ้านที่อบอุ่น ไม่ติดหรู มีกลิ่นอายอีสาน แต่เราก็ไม่ได้อยากให้อีสานจ๋า อยากได้ความร่วมสมัยด้วย ในส่วนของวัสดุ ขอเป็นไม้ กับอิฐไม่เอาเหล็ก เข้าใจว่าไม้ราคาแพง ดังนั้นอาจจะเอาปูนเปลือยมาช่วยลด cost ในบางห้อง แล้วก็เราเป็นคนชอบเพดานสูง ชอบบ้านลมโกรก ชอบแสงเยอะๆ ชอบพัดลมเพดาน ก็ให้โจทย์นี้ไป 

        หลังจากส่งข้อมูลให้สถาปนิก ก็รออยู่เดือนกว่า (เรียกว่านับวันรอเลย) เนื่องจากเราทำงานอยู่กทม. ก็เลยขอนัดเจอกันที่นี่ (สถาปนิกเข้ามาบ่อยๆอยู่แล้ว) และ video call กับแฟนที่อยู่ขอนแก่น โดยสถาปนิกเขียนแบบมาให้ 2 แบบ และให้เราเลือกว่าชอบแบบไหน หลังจากนั้นก็จะปรับปรุงแบบที่เราเลือกจนสมบูรณ์ในที่สุด (ส่วนใหญ่แล้วแก้กลับไป-มา 4 รอบได้) ระหว่างนี้ก็จะจ่ายเงินให้สถาปนิกเป็นงวดๆไปด้วย โดยแบ่งจ่าย 4 งวด (งวดสุดท้ายคือหลังแบบ built-in เสร็จ ประมาณ 3 เดือนก่อนบ้านเสร็จ)


advertisement

        พอได้ final draft มา สถาปนิกก็จะทำแบบก่อสร้างอย่างละเอียด ซึ่งละเอียดยิบมากๆ (ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณสองเดือน) พอแบบก่อสร้างเสร็จ สิ่งที่จะได้ตามมาคือ งบประมาณการก่อสร้าง พอถึงตรงนี้ ถึงกับลมจับเลยทีเดียว ToT รีบปรับลดสเปคลงแทบไม่ทัน เช่น เปลี่ยนหน้าต่างในห้องน้ำจากไม้เป็นอะลูมิเนียม เปลี่ยนมาใช้ปูนเปลือยเพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งสถาปนิกก็เข้าใจและปรับลดสเปคตามที่เราต้องการ หรือตรงส่วนไหนที่เห็นว่าไม่จำเป็นสถาปนิกก็แนะนำให้ตัดออก 

        หลายคนสงสัยว่านอกจากออกแบบแล้วสถาปนิกทำอะไรอีก สำหรับเรา หน้าที่สำคัญของสถาปนิกมีอยู่สามอย่างคือ การออกแบบบ้านให้ตรงกับความต้องการของเจ้าของบ้านให้มากที่สุด สองควบคุมการก่อสร้างร่วมกับผู้รับเหมาให้บ้านออกมาตรงกับแบบมากที่สุด และสามเป็นที่ปรึกษาให้เจ้าของบ้านในยามที่ไม่รู้จะหาที่พึ่งที่ไหน (อันนี้กราบเลย 555) แรกๆก็เกรงใจไม่อยากถามเยอะ ช่วงหลังๆโทรหาบ่อยมาก ซึ่งสถาปนิกใจเย็นมาก ตอบทุกข้อสงสัยไม่มีบ่น แนะนำว่าเวลามองหาสถาปนิกให้หาตยใจเย็นๆไว้เลยค่ะ  และที่สำคัญต้องมีความรับผิดชอบสูง ขยันมาดูไซต์

        จึงเป็นที่มาว่าทำไมค่าจ้างของสถาปนิกจึงแพง เพราะต้องเขียนแบบ แก้แบบ ทำแบบก่อสร้างที่มีรายละเอียดเกือบร้อยหน้า ไหนจะแบบ built-in แบบสวน ต้องมาดูไซต์ก่อสร้าง ประชุมงานกับผรม. ตอบคำถามเจ้าของบ้านอีกร้อยแปด process ทั้งหมดนี้ใช้เวลาเกือบ2ปี พอเขียนมาถึงตรงนี้ เรารู้เลยว่าเงินที่จ่ายไป ไม่ได้แพงเกินไปเลยกับสิ่งที่ได้กลับมา ดังนั้น แบ่งงบสร้างบ้านมาจ้างสถาปนิกเถอะ คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม

        2.2 ผรม.ที่ดีมีอยู่จริง คิดว่าหลายท่านกังวลเรื่องการหาผรม. เพราะถ้าถามคนรอบตัว ต้องมีบ้างที่เจอผรม.ที่ทิ้งงาน ถ้าไม่ทิ้งงาน ก็ทำงานชุ่ย คำแนะนำ คือ ให้จ้างสถาปนิก เพราะสถาปนิกจะเป็นคนตรวจงานผรม.อีกทีว่าตรงจุดนี้ผ่านมั้ย หรือสร้างตรงตามแบบก่อสร้างหรือเปล่า

        โชคดีในโชคดีที่ได้ผรม.ที่มีทัศนคติในการทำงานที่ดี คือชอบงานที่ท้าทาย และอยากพัฒนาสกิลการก่อสร้างของช่างในทีม มีความเป็นมืออาชีพสูง คือนำเสนอสิ่งดีๆให้เจ้าของบ้าน แทนที่จะทำงานแบบขอไปที และขยันทำงานมาก เราว่าสถาปนิกมาดูไซต์บ่อยแล้ว ผรม.บ่อยยิ่งกว่า อย่างน้อย 3-4 ครั้งต่ออาทิตย์ ซึ่งที่เราอ่านเจอมาไม่เป็นแบบนี้ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมาดูงาน หรือมาเฉพาะตอนใกล้จ่ายค่างวดเท่านั้น ซึ่งตลอดการสร้างบ้าน ผรม.เต็มที่กับบ้านนี้มาก  ตรงไหนที่ต้องรื้อก็คือรื้อ เมื่อหัวหน้ามีทัศนคติในการทำงานที่ดี ก็ส่งผลไปถึงลูกน้องด้วย ช่างอยากจะฟัฒนาฝีมือของตัวเอง และก็ภูมิใจที่ได้ทำงานที่ท้าทาย ได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่ [ads]

          เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ในการสร้างบ้านสวยๆ ร่วมกับสถาปนิกและผู้รับเหมาให้ไม่ปวดหัว ดูไว้เป็นตัวอย่างในการสร้างบ้านได้เลยนะครับ 

เรียบเรียงโดย : thaihitz.com ขอขอบคุณข้อมูลจาก hola_mundo  


advertisement