advertisement
เป็นแมลงที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดี สำหรับ ตั๊กแตน ซึ่งมีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ สายพันธุ์ที่รู้จักกันเป็นอย่างดีก็น่าจะเป็น ตั๊กแตนปาทังก้า ที่ตอนนี้ในประเทศไทยมีการเลี้ยงตั๊กแตนปาทังก้า จำนวนมาก ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนชนิดใหม่ของมนุษย์สามารถนำมาแปรรูปทำเป็นอาหาร แต่ในต่างประเทศหลายพื้นที่ ตั๊กแตนปาทังก้า ถือว่าเป็นปัญหา เพราะว่าทำร้ายพืชผลของเกษตรกร
ล่าสุด ทางด้านผู้ใช้ TikTok @chitchonnabot ได้โพสต์วิดีโอคลิปเล่าประวัติความเป็นมาของตั๊กแตนปาทังก้า ที่เป็นปัญหาที่ต่างประเทศ เมื่อตั๊กแตนปาทังก้า แพร่พันธุ์เข้ามาในประเทศไทย คนไทยจับมาทำเป็นอาหารซะเลย เป็นยังไงนั้นตามไปดูกันเลย
ช่วงก่อนปี พ.ศ. 2530 ไม่กี่ปี ประเทศไทยเองก็เคยอยู่ในภาวะที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะตั๊กแตนปาทังก้าฝูงใหญ่ได้อพยพจากอินเดียและปากีสถานเข้ามาจนถึงประเทศไทย หลายจังหวัดถูกประกาศให้เป็นเขตระบาดของตั๊กแตน ซึ่งรัฐบาลในสมัยของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็เตรียมตัวรับมือกับการระบาดเต็มที่ โดยมีแผนพิฆาตตั๊กแตนเป็นการพ่นยาฆ่าแมลงอย่างแรงที่สุด เพราะข้าวโพด มันสำปะหลัง และผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านในหลายจังหวัดกำลังได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง
advertisement
อย่างไรก็ตาม แผนการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงแบบปูพรมที่รัฐบาลเตรียมไว้ก็เป็นอันต้องเป็นหมันไปเสียก่อน เพราะไม่ช้าไม่นานหลังจากตั๊กแตนปาทังก้าระบาด เกษตรกรบ้านเราก็เกิด Know-how ว่าอาวุธที่ดีที่สุดในการจัดการกับตั๊กแตนตัวร้ายก็คือน้ำมันร้อนๆ ซอสปรุงรส และพริกป่นนั่นเอง
ตั๊กแตนปาทังก้าถูกจับขายอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เกษตรกรในพื้นที่ระบาดต่างพากันเปลี่ยนอาชีพมาจับตั๊กแตนปาทังก้ากันทั้งวันทั้งคืน มีทั้งการเก็บขายผ่านพ่อค้าคนกลาง และทอดขายร้อนๆ เป็นอาหารว่างหรือกับแกล้มรสโอชะ โปรตีนสูง ยิ่งเคี้ยวยิ่งเพลินจนตั๊กแตนทอดกลายเป็นสตรีทฟู้ดยอดนิยมแห่งยุคไปในบัดดล
เมื่อได้รับความนิยมมากเข้า ตั๊กแตนปาทังก้าก็มีราคาสูงขึ้น จนชาวบ้านสามารถสร้างรายได้จากการจับตั๊กแตนขายได้มากกว่าการปลูกพืชเสียอีก พอรัฐบาลทำท่าว่าจะพ่นยาฆ่าแมลง ชาวบ้านจึงพากันคัดค้านเสียยกใหญ่ เป็นโมเดลการกำจัดศัตรูพืชที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แถมยังได้ผลดีมากเสียด้วย
advertisement
advertisement
กระบวนการยับยั้งการระบาดของตั๊กแตนปาทังก้ายังไม่จบลงเท่านั้น เมื่อตัวตั๊กแตนถูกจับจนเริ่มหายาก ชาวบ้านก็พากันไปขุดเอาไข่หรือตัวอ่อนตั๊กแตนที่ฝังอยู่ใต้ดินมาขายต่อ ยิ่งไปกว่านั้น ไข่ตั๊กแตนยังมีราคาสูงกว่าตัวตั๊กแตนมาก การขุดไข่ตั๊กแตนมาขายจึงเป็นอาชีพในเฟสที่ 2 ที่เป็นการกำจัดศัตรูพืชที่นานาประเทศหวาดกลัวได้อย่างถอนรากถอนโคน
ภาวะการระบาดคลี่คลายลงแล้ว แต่ความอร่อยของตั๊กแตนยังคงฝังใจอยู่ ดังนั้นเมื่อหาตั๊กแตนปาทังก้าตามธรรมชาติไม่ได้ ชาวไทยจึงเริ่มนำเข้าตั๊กแตนจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาและลาว รวมถึงมีการเพาะพันธุ์ตั๊กแตนขายเชิงพาณิชย์ด้วย
advertisement
ในช่วงปี พ.ศ. 2563 ก็มีข่าวตั๊กแตนปาทังก้าระบาดที่อินเดียอีกครั้ง ไม่รู้ว่าเป็นโชคดีหรือโชคร้ายที่การระบาดครั้งนั้นไม่มาถึงประเทศไทย คลังอาวุธอย่างขวดสเปรย์บรรจุซอสปรุงรส และพริกไทยขาวป่นจำนวนมากจึงไม่ได้ถูกใช้งาน และคนรักตั๊กแตนทอดก็ยังต้องกินตั๊กแตนนำเข้าและตั๊กแตนจากฟาร์มเพาะเลี้ยงต่อไป
ปัจจุบัน การกินแมลงกลายเป็นเทรนด์อาหารทางเลือกที่ทั่วโลกให้ความสนใจมากขึ้น เพราะเป็นโปรตีนคุณภาพที่ใช้พื้นที่และทรัพยากรในการเพาะเลี้ยงน้อย มันจึงถือว่าเป็นอาหารที่ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืนได้ยิ่งกว่าเนื้อสัตว์จากฟาร์มเสียอีก เพราะฉะนั้นถ้าจะบอกว่าปรากฏการณ์ตั๊กแตนทอดฟีเวอร์ในยุคนั้น เป็นการแก้ปัญหาที่ล้ำมาก่อนกาลล่ะก็คงจะไม่ผิดนักหรอก
เรียบเรียงโดย : thaihitz.com ขอขอบคุณข้อมูลจาก chitchonnabot
advertisement