advertisement

สุดล้ำ เครื่อง CT-Scan ตรวจทุเรียนอ่อน-แก่-หนอน แม่นยำ 95% ใช้จริงในไทยครั้งแรก


advertisement

      เป็นผลไม้สุดโปรดของใครหลายคนเลย สำหรับ ทุเรียน ผลไม้ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นราชาผลไม้  ด้วยความที่รสชาติ กลิ่น เนื้อสัมผัสที่ไม่เหมือนใคร เวลาที่เลือกซื้อทุเรียนต้องเช็กให้ดี เพราะอาจจะโดนทุเรียนอ่อน เปลือกหนา เนื้อน้อย อาจจะทำให้คุณเสียเงินฟรีๆ ซื้อมาแพงๆ ไม่คุ้ม

      ล่าสุด ทางด้านเพจเฟสบุ๊ก เสิร์ฟจากฟาร์ม  ได้โพสต์นวัตกรรมใหม่ของวงการทุเรียน ที่ต้องอึ้ง สำหรับ   เครื่อง CT-Scan ตรวจทุเรียนอ่อน – แก่ – หนอน  แม่นยำ 95%  รู้ผลใน 3 วินาที ใช้งานจริงในล้งทุเรียนครั้งแรกของประเทศ โดยทางเพจระบุว่า…. 

      ปัจจุบันประเทศไทยยังคงเป็น “ราชาแห่งทุเรียน” ส่งออกมากกว่า 800,000 ตันต่อปี สร้างรายได้กว่า 150,000 ล้านบาท  แต่คำถามสำคัญคือ “เราจะรักษาตำแหน่งนี้ได้นานแค่ไหน?”

      เมื่อปัญหาทุเรียนอ่อน หนอนเจาะเมล็ด และเนื้อตกเกรด ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค โดยเฉพาะตลาดใหญ่อย่างจีน 


advertisement

      สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ ARDA หน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยในระบบ ววน. อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเป็นหน่วยงานหลักของประเทศในการบริหารงานวิจัยการเกษตรใหญ่ที่สุดของประเทศ มีนโยบายขับเคลื่อนการทำเกษตรดั้งเดิมสู่ “เกษตรสมัยใหม่”


advertisement

       โดยพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตร (AgriTech) มาร่วมยกระดับภาคการเกษตรไทย ให้ตอบสนองความต้องการของตลาดโลกด้านความมั่นคงทางอาหาร ควบคู่ไปกับการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและราคาพืชผลการเกษตร จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อดำเนินโครงการ “การออกแบบเครื่องคัดแยกความอ่อน-แก่ และหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนด้วยเทคนิค CT-Scan ร่วมกับการประมวลผลผ่านโครงข่ายประสาทเทียมเชิงลึก” 


advertisement

      คุณศิริกร วิวรวงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวว่า ท่ามกลางวิกฤตแรงงานขาดแคลน ต้นทุนสูง และตลาดโลกที่เรียกร้อง “คุณภาพ” มากกว่า “ปริมาณ” ภาคการเกษตรไทยกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนสำคัญ และการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่เพียงแค่แนวคิด แต่กำลังเกิดขึ้นจริงผ่านนวัตกรรมที่ “จับต้องได้” 

      เพราะเป้าหมายของเราคือการทำให้เกษตรกรหรือผู้ประกอบการนำไปใช้ได้จริง เกษตรไทยต้องไปต่อได้ งานวิจัยจะไม่อยู่บนหิ้งหรือหยุดอยู่ในห้องทดลอง ซึ่งเครื่องสแกนทุเรียน อาจเป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ แต่สะท้อนถึงความเป็นไปได้อันยิ่งใหญ่ของภาคเกษตรไทยในวันที่ความ “แม่นยำ” และ “ยั่งยืน” ถูกกำหนดเป็นนโยบายสำคัญของประเทศ และแน่นอนว่าในวันที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความอยู่รอดไม่ได้วัดกันที่ใคร “ปลูกได้ปริมาณมากกว่า” แต่อยู่ที่ใคร “ปลูกได้คุณภาพดีกว่ากัน” 


advertisement

      รศ.ดร.ชาญชัย ทองโสภา วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า  การนำเครื่อง CT-Scan ตกรุ่นปลดระวางจากบริษัทเอกชนที่ให้บริการด้านเครื่องมือแพทย์ มาพัฒนาเป็นเครื่องต้นแบบสำหรับตรวจสอบความอ่อน – แก่ และหนอนในทุเรียนได้อย่างชัดเจนด้วยเทคนิค CT-Scan ที่สามารถสแกนภาพทุเรียนด้วยความละเอียดสูง โดยแต่ละเฟรมจะแสดงค่า CT-Numbers ที่บ่งบอกถึงความหนาแน่นของเนื้อทุเรียน ทำให้ตรวจสอบคุณภาพภายในผลทุเรียนโดยไม่ต้องผ่าและใช้เวลาสแกนเพียง 3 วินาที หรือ 1,200 ลูก/ชั่วโมง 

      และด้วยระบบ AI ที่พัฒนาขึ้นเฉพาะให้ทำงานร่วมกันจะช่วยประมวลผลแยกความอ่อน–แก่ ตรวจหาหนอน ได้แม่นยำถึง 95% รวมถึงสามารถตรวจพบเนื้อที่มีความผิดปกติ เช่น เนื้อเต่าเผา เนื้อลายเสือ เป็นปัญหาที่สร้างความเสียหายให้ทุเรียนไทย 100 % ซึ่งที่ผ่านมาไทยยังไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถตรวจจับได้ 

– 

      ปัจจุบันเครื่องสแกนทุเรียนได้ผ่านการทดสอบจากห้องทดลองเรียบร้อย และนำมาติดตั้งและนำร่องใช้เป็นครั้งแรกในล้งทุเรียนบริษัท เอ็นทีเอฟ อินเตอร์กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)  ต. สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี  

เรียบเรียงโดย : thaihitz.com ขอขอบคุณข้อมูลจาก เสิร์ฟจากฟาร์ม  


advertisement