advertisement

กองสลากฯ ชี้ แม่ค้าเขียนชื่อหลังสลาก ไม่ผิดกฎหมาย


advertisement

       จากกรณีที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ออกมาโพสต์เตือนภัย ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลมาจากแม่ค้ารายหนึ่ง แต่ปรากฎว่า หลังสลากมีการเขียนชื่อ นามสกุล พร้อมเบอร์โทรศัพท์ของแม่ค้าเอาไว้ชัดเจน ซึ่งหลังจากเธอโทรไปสอบถามแม่ค้า แม่ค้าอ้างว่า เขียนไว้เผื่อลูกค้าถูกรางวัลแล้วจะแบ่งเงินให้ เธอจึงไปลงบันทึกประจำวันเอาไว้ เพราะหากถูกรางวัลจริงๆ แม่ค้ารายนี้อาจจะหาว่าเธอขโมยสลากๆไปก็ได้

       ล่าสุด (16 ม.ค. 63) พ.ต.อ.บุญส่ง จันทรีศรี ผู้อำนวยการกองสลากกินแบ่งรัฐบาล เผยว่า กรณีที่แม่ค้าเขียนหลังสลาก หรือประทับตราแสดงความเป็นเจ้าของ และนำสลากฯ ไปจำหน่าย ยังไม่ถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย ซึ่งตามหลักพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2562 ระบุว่า กองสลากฯ จะจ่ายเงินรางวัลให้กับผู้ที่ถือสลากฯ มาขึ้นรางวัลเท่านั้น โดยจะต้องมีการแนบหลักฐานยืนยัน คือ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ประกอบด้วย แต่ถ้ากรณีที่มีการแจ้งอายัดสลากฯ ไว้ก่อนหน้า ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการสืบสวนสอบสวน เพื่อยืนยันว่าใครเป็นเจ้าของสลากฯ ตัวจริง

       เพื่อความสบายใจของผู้ซื้อ จึงอยากแนะนำให้อย่าซื้อสลากที่มีการเขียนชื่อด้านหลัง ประทับตรา หรือกระทำการใดๆที่แสดงความเป็นเจ้าของ แต่หากผู้ซื้อมีความต้องการที่จะซื้อสลากฯใบดังกล่าวจริงๆ ก็ต้องไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อป้องกันหากกรณีสลากฯใบนั้นถูกรางวัลจริง ก็จะสามารถยืนยันความเป็นเจ้าของได้

      "กองสลากฯ คงไม่สามารถไปห้ามไม่ให้มีการซื้อขาย หรือเขียนหลังสลากฯได้ ทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ซื้อ แต่ในกรณีที่มีการเขียนหลังสลากฯแล้วนำมาขาย ยังไม่ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ถือเป็นการทำที่อาจผิดวิสัย อาจจะมีเจตนาไม่ดี คงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ซื้อเอง เพราะท้ายที่สุดหากสลากฯใบนั้น เมื่อมีปัญหา มีการแจ้งอายัดก็ต้องเข้าสู่กระบวนการสอบสวน ซึ่งต้องใช้เวลา" พ.ต.อ. บุญส่ง กล่าว


advertisement

         หากใครที่เจอสลากที่มีพ่อค้าแม่ค้า ประทับตราหรือเขียนแสดงความเป็นเจ้าของ ก็อาจจะหลีกเลี่ยงการซื้อ หรือหากซื้อแล้วก็ควรไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน เพื่อความสบายใจและป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดตามมาค่ะ

เรียบเรียงโดย : thaihitz.com 


advertisement