advertisement

ค่าโดยสารรถไฟฟ้าไทย ราคาแพงที่สุดในโลก แซง ลอนดอน-สิงคโปร์


advertisement

        เป็นปัญหาที่ประชาชนบ่นกันอยู่ตลอด สำหรับอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าในประเทศไทย ที่มีราคาสูง หากเทียบกับค่าครองชีพของคนไทย แต่ปัญหานี้ก็ไม่ได้รับการแก้ไข เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาเคลมว่า ค่าโดยสารเหมาะสมแล้ว

        แต่ล่าสุด สื่อของมาเลเซีย ออกมาเผยว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าของประเทศไทยมีราคาแพง เมื่อเทียบกับราบได้ของคนไทย ไม่เอื้อต่อการใช้บริการ ถึงแม้จะมีการขยายเส้นทางไปถึงชานเมืองแล้ว แต่ยังมีคนใช้บริการน้อย เพราะค่าใช้จ่ายสูง ยังไม่รวมค่าบริการรถเมล์ รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่ต้องต่อมายังสถานีอีกด้วย

        ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า จากผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอ เรื่องการเปรียบเทียบต้นทุนค่าใช้จ่ายระบบขนส่งสาธารณะรอบกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยพบข้อมูลว่า ค่ารถไฟฟ้าในเมืองหลวงเมื่อวัดตามอำนาจดัชนีการซื้อ(Purchasing Power Parity : PPP)พบว่าประเทศไทยอย่างกรุงเทพมหานครนั้นมีราคาค่อนข้างสูงหรือเฉลี่ยราว 28.30 บาท/เที่ยว สูงกว่าค่ารถไฟฟ้าของสิงคโปร์มากกว่า 50% โดยค่ารถไฟฟ้าเฉลี่ยของสิงคโปร์อยู่ที่ 13.3 บาท/คน/เที่ยว ส่วนฮ่องกงอยู่ที่ 16.78 บาท/คน/เที่ยว

         ขณะที่ข้อสรุปค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทางของผู้โดยสาร พบว่าไทยมีค่าโดยสารระบบรางสูงกว่าประเทศในภูมิภาคเอเซียด้วยกันเอง รวมถึงพบว่าไทยมีส่วนต่างค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้ากับรถโดยสาร (รถเมล์) สูงที่สุด ซึ่งค่าโดยสารรถไฟฟ้าต่อเที่ยวของคนไทยอยู่ที่ 67.4 บาท คิดเป็น 2.14 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ประเทศสิงคโปร์อยู่ที่ราว 25.73 บาท คิดเป็น 0.83 ดอลลาร์สหรัฐ และฮ่องกงอยู่ที่ 46.5 บาท คิดเป็น 1.5 ดอลลาร์สหรัฐ

         ขณะนี้ ทีดีอาร์ไอ อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางปรับปรุงสัญญาสัมปทานค่ารถไฟฟ้าของผู้เดินรถรายเดิมและสัญญาเดินรถใหม่ที่กำลังจะเปิดบริการเพื่อให้มีแนวทางควบคุมราคาค่าโดยสารให้มีความเป็นธรรมและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป อย่างไรก็ตามมองว่าในอนาคตการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายใหม่และการเปิดเดินรถช่วงต่อขยายเส้นทางสายเดิมนั้นจะยิ่งส่งผลให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงมากยิ่งขึ้น หากยังไม่มีการบริหารจัดการทั้งด้านราคาและค่าแรกเข้า คาดว่าค่ารถไฟฟ้าเฉลี่ยต่อการเดินทางหนึ่งครั้งจะสูงกว่า 100 บาท เช่น การเดินทางช่วงบางใหญ่-บางนา หรือการเดินทางจากบางใหญ่-เอกมัย เป็นต้น


advertisement

         ดังนั้นการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายต่างๆ ไม่ควรทำให้ค่าโดยสารบานปลาย เพราะประชาชนไม่สามารถรับภาระได้ จากผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอ พบว่า กลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีความสามารถจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าได้ 11.69 บาท/คน/เที่ยว ซึ่งต่ำกว่าค่าโดยสารเฉลี่ยซึ่งอยู่ที่ 28.30 บาทมากกว่า 1 เท่า ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางพบว่ามีความสามารถในการจ่ายค่ารถไฟฟ้า 20.33 บาท/คน/เที่ยว ซึ่งในต่างประเทศมีการควบคุมราคาค่าโดยสาร โดยนำเส้นทางรถไฟฟ้าที่เป็นไข่แดงกลางเมือง ซึ่งมีกำไรมากที่สุด พร้อมนำรายได้ไปเฉลี่ยให้กับรถไฟฟ้าสายอื่นที่กำไรน้อยเพื่อควบคุมค่าโดยสาร แต่ในไทยผู้ได้รับสัมปทานรถไฟฟ้า เป็นคนละบริษัทเอกชน และเอกชนบางรายก็ถือสัญญาหลายสัมปทานด้วย

        จากข้อมูลตัวเลขค่าครองชีพของประเทศไทยและสิงคโปร์แล้วต่างกันเกือบ 10 เท่า โดยพบว่าประเทศไทยมีรายได้ต่อหัว (GDP per capita) อยู่ที่ 18,587 บาท/เดือน สิงคโปร์มีรายได้ต่อหัวที่ 164,194 บาท/เดือน ขณะที่ฮ่องกงมีรายได้ต่อหัว 120,640 /เดือน ส่วนลอนดอนมีรายได้รายหัว 111,032 /เดือน อย่างไรก็ตามการจัดอันดับค่าครองชีพของโลกนั้น เมืองลอนดอนอยู่อันดับที่ 26 ฮ่องกงอยู่อันดับที่ 40 สิงคโปร์อันดับีท่ 105 และกรุงเทพอันดับที่ 216

          ข้อมูลของเว็ปไซต์ Aom Money พบว่าระบบโครงข่ายรถไฟฟ้าซึ่งแพงที่สุด คือ ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส แพงกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT และ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ของ รฟท. โดยเทียบจาก บีทีเอส สถานีศาลาแดง – อโศกราคาอยู่ที่ 37 บาท กับ MRT สถานีสีลม – สุขุมวิทจ่ายแค่ 23 บาท ซึ่งมีราคาแตกต่างถึง 14 บาทหรือต่อให้เทียบกันในราคาสูงสุด จาก บีทีเอส ศาลาแดง ไป บีทีเอส หมอชิต 44 บาท กับ MRT สีลม ไป MRT สวนจตุจักร แค่ 42 บาท MRT ก็ยังถูกกว่าอยู่ดี


advertisement

        อย่างไรก็ตาม รถไฟฟ้าบีทีเอสยังมีส่วนต่อขยายไปชานเมือง ซึ่งอาจทำให้ค่าเดินทางสูงสุดถึง 59 บาท และอาจมากกว่า 100 บาทหากต้องการเดินทางจากเขตชานเมืองช่วงบางใหญ่-บางนา หรือ บางใหญ่-บางหว้า อีกทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบีทีเอสยังไม่มีการยกเว้นค่าแรกเข้า เหมือนกับการเชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดิน MRTกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงของรฟม. ขณะที่การเปรียบเทียบราคาแพคเกจเหมาเที่ยวพบว่า รถไฟฟ้า MRT คิดค่าบริการเหมา 40 เที่ยว ราคา 1,040 บาทและเหมา 50 เที่ยว ราคา 1,250 บาท ขณะที่รถไฟฟ้าบีทีเอส คิดค่าบริการเหมา 40 เที่ยวราคา 1,080 บาท และเหมา 50 เที่ยว ราคา 1,300 บาท


advertisement

         ถึงแม้ว่าจะมีการพัฒนารถไฟฟ้าไปอย่างก้าวไกลแค่ไหน แต่ก็ยังแก้ไขปัญหาของประชาชนได้ไม่เต็มที่ เพราะการเข้าถึงที่ต้องใช้เงินสูงสำหรับคนที่มีรายได้น้อยนั่นเองค่ะ

เรียบเรียงโดย : thaihitz.com 


advertisement