advertisement

ซื้อบ้านจากกรมบังคับคดี ทำอย่างไรเมื่อมีคนยังอาศัยอยู่!?


advertisement

        คุณ สมาชิกหมายเลข 5106283  สมาชิกเว็บไซต์พันทิปได้ออกมาเผยขั้นตอนหลังจากที่ได้ไปซื้อบ้านจาก กรมบังคับคดี แต่ยังมีคนอาศัยอยู่ แล้วต้องทำอย่างไรดี โดยจากโพสต์นั้นได้ระบุว่า 'ซื้อบ้านจากบังคับคดี แล้วทำอย่างไรต่อไปเมื่อมีคนยังอาศัยอยู่??' สวัสดีค่ะ กระทู้นี้อยากมาเล่าเรื่องการซื้อบ้านจากบังคับคดี แล้วทำอย่างไรต่อไปเมื่อมีคนยังอาศัยอยู่??

       หลายๆคนอาจจะพูดออกมาได้เลยว่า ยังไงก็จะไม่มีทางซื้อบ้านขายทอดตลาดที่ยังมีคนอยู่แน่ ไม่อยากยุ่งยาก จริงๆเราก็เห็นด้วยนะ แต่ถ้าบ้านแบบทำเลดีราคาดีมาก คงทำใจปล่อยผ่านยากเหมือนกัน

      บ้านหลังนี้ได้ถูกประมูลซื้อในเดือนตุลาคม และโอนกรรมสิทธิ์ในเดือนธันวาคมค่ะ ทางฝ่ายเรามีเบอร์โทรศัพท์ของฝ่ายนั้นที่ได้มาจากวันประมูล ก็มีการพูดคุยกับเขาสอบถามว่าเขาจะย้ายออกเมื่อไหร่ตลอด

       การพูดคุยครั้งสุดท้ายเขาทำให้ฝ่ายเราโมโหค่ะ เลยตัดสินใจว่ารีบๆดำเนินการตามกฎหมายเลย ก็อาศัยหาข้อมูลจาก Google หลายเว็บ แนะพันทิปด้วย ขอบอกก่อนว่าฝั่งเราไม่มีความรู้ทางกฎหมายใดๆเลย แต่เนื่องจากช่วงนี้เราว่าง จึงตัดสินใจที่จะทำทุกอย่างด้วยตนเองค่ะ หาอ่านข้อมูลหลายชั่วโมงกว่าจะเริ่มพอรู้เรื่องบ้าง

เมื่อเราซื้อบ้านจากบังคับคดีแล้ว สามารถขอยืนคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลได้ 

     – ข้อมูลเก่าคือต้องปิดประกาศขับไล่ก่อน ถ้าตามกำหนดเวลาไม่ออก ก็ยื่นขอออกหมายจับค่ะ

     – ข้อมูลกฎหมายใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 คือ สามารถขอออกหมายจับได้เลย

จากนั้นศาลจะส่งเรื่องไปยังบังคับคดี

     กระทู้นี้ขอให้เป็นข้อมูลสำหรับใครที่อยากซื้อบ้าน กำลังซื้อ กำลังประสบปัญหา ดูเป็นแนวทางตัดสินใจว่าจะทำยังไง หรือถ้าสงสัยว่ามีขั้นตอนอะไรบ้าง เพราะตอนเราหาข้อมูลก็ไม่ค่อยเจอข้อมูลแบบละเอียดเท่าไหร่


advertisement

ขอเล่าเรื่องตามกรณีของเราแล้วกันนะคะ 

      บ้านหลังนี้อยู่จังหวัด ก. ค่ะ เราได้ไปติดต่อศาลจังหวัดก.หลายครั้งเพื่อสอบถาม ตรงเข้าไปถามที่ส่วนประชาสัมพันธ์ได้เลยค่ะ ใจดีมาก เราก็ถามว่าจะต้องเขียนยังไงคะ ถ้าจะเขียนเอง ไม่จ้างทนาย เขาก็ให้คำแนะนำมาค่ะ เราก็กลับไปเขียน แล้วก็มายื่นเรื่องพร้อมเอกสาร ให้เขาช่วยตรวจดูข้อความให้ จากนั้นเรียบร้อยเขาให้ไปติดต่อห้องคดีคำแดง ประมาณนี้ค่ะ เมื่อเราไปติดต่อที่นั่น เขาไม่สามารถหาแฟ้มคดี(ไม่แน่ใจเรียกงี้ไหม)ได้ เนื่องจากเป็นเรื่องยึดจำนองตั้งแต่ปี40-44ประมาณนี้ค่ะ เขาไม่มีเอกสารเก็บไว้ เจ้าหน้าที่จึงให้เราไปติดต่อศาลจังหวัดข.แทน เนื่องจากแม้ว่าบ้านจะอยู่จังหวัดก. แต่การฟ้องจำนองยึดอะไรเขาไปทำที่ศาลจังหวัดข.ค่ะ

      เราไปที่ศาลจังหวัดข.ติดต่อเจ้าหน้าที่ แล้วเขาให้เราไปยื่นที่ส่วนห้องคดีดำ/แดงเหมือนเดิมค่ะ ก็ยื่นเอกสารไว้วันจันทร์ สอบถามเขาบอกว่าให้โทรมาถามอีกทีวันศุกร์ว่าเอกสารออกยัง ว่าศาลเซ็นให้ยัง

ตัวอย่างแบบคำร้อง

     เราไม่ได้ใช้แบบนี้เป๊ะนะคะ อันนี้เป็นร่าง เราจำได้ว่าเราได้แก้ข้อความอยู่นิดหน่อย แต่เราไม่ได้ถ่ายรูปหรือเก็บไฟล์ไว้ จึงจำไม่ได้ว่าแก้ตรงไหนไป  [ads]


advertisement

      วันศุกร์โทรถาม เขาบอกว่าได้เซ็นแล้ว เราเลยไปศาลข.ค่ะ เขาว่าเซ็นตั้งแต่วันพุธแล้ว เราเลยถามว่าต้องทำยังไงต่อ เพราะเราต้องนำไปใช้ที่บังคับคดีจังหวัดก. เนื่องจากศาลข.ยังไม่ส่งเอกสารออกไป เราเลยขอถือฉบับจริงไปยื่นบังคับคดีจังหวัดข.เอง 

      เราก็ไปบังคับคดีจังหวัดข.เพื่อที่จะทำเรื่องบังคับนอกเขต (ประมาณนี้นะคะถ้าจำไม่ผิด) เราไม่มีแบบฟอร์มให้ดูนะคะ เนื่องจากเขียนที่นั่นแล้วส่งเลย ไม่ได้พิมพ์ถ้าจำไม่ผิดเสียค่าวางเงินประมาณ1500บาทค่ะ (ขอคืนได้หลังจบเรื่อง) เขาก็ถามว่าจะเอาเอกสารไปยื่นบังคับคดีก.เอง หรือจะให้ส่งไปตาามขั้นตอน เราก็ขอรับเอกสารไปยื่นเองค่ะ

      กลับมาที่จังหวัดก. จังหวัดที่ทรัพย์ตั้งอยู่ ก็นำเอกสารไปหาศาลจังหวัดก่อน แล้วก็ไปติดต่อบังคับคดีค่ะ

      ที่บังคับคดีก. เราเขียนคำร้องไปอีกฉบับ แต่เขียนผิดค่ะ ได้จดหมายมาแต่ก็ไม่มีประโยชน์ ไปสอบถามเจ้าหน้าที่ขอคำแนะนำ เขาก็บอกว่าจะขอหมายจับเลยก็ได้หรือจะขอหมายขับไล่ไปติดหน้าบ้านก่อนก็ได้ เนื่องจากขอหมายจับมันค่อนข้างเรื่องใหญ่สำหรับเรา แล้วกรณีเรามันมีความซับซ้อนเรื่องชื่อจำเลยกับผู้ที่อาศัยอยู่ เราก็เลยขอเป็นหมายขับไล่แทนก่อน เขียนคำร้องขอหมายขับไล่ นัดวันกับเจ้าหน้าที่ค่ะ

     พอถึงวันนัด มาถึงบังคับคดี ก็ต้องเขียนคำร้องอีกรอบนึง เขียนง่ายๆใช้ฟอร์มของบังคับคดี ไม่ต้องเป็นทางการมาก ถามเจ้าหน้าที่ก็ได้ค่ะว่าต้องเขียนว่าอะไร แค่ไม่กี่บรรทัด ก็รอเขาพิมพ์หมาย แล้วเราก็พาเจ้าหน้าที่ไปที่บ้านหลังนั้น เจ้าหน้าที่บังคับคดีก็จะปิดจดหมายไว้หน้าบ้านเป็นประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีค่ะ ในจดหมายมีเขียนไว้ว่าห้ามฉีกทำลายเอาออกประมาณนี้ค่ะ ถ้าไม่ใช่บริวารและจำเลยที่อาศัยอยู่จะไปยื่นเรื่องต่อศาลก็ได้ค่ะ ในประกาศไม่ได้กำหนดเวลาไว้ค่ะ แต่พนักงานบังคับคดีบอกว่าให้รอ15วันขึ้นไปแล้วก็บวกวันเพิ่มอีกหน่อยค่อยไปติดต่อเพื่อทำเรื่องขอหมายจับต่อไปถ้ายังไม่ออก เราเสียค่าใช้จ่ายหนึ่งพันบาทค่ะ ขอเงินคืนได้หลังจบเรื่องแต่ถูกหักออก101บาท

      ผ่านไปประมาณสิบวัน คนที่อาศัยอยู่บ้านหลังนั้นก็โทรมาค่ะ จะย้ายออกแต่ขอเงินค่าขนของสักสองหมื่น บลาๆๆ เราก็บอกไปไม่มีเงิน ให้มากสุดสองพัน นู่นนี่นั่นไป เขาบอกจะย้ายออกตอนสิ้นเดือน ผ่านมาอีกสัปดาห์เขาบอกว่าจะย้ายออกสุดสัปดาห์นี้แต่ขอเงินหน่อยเพราะต้องไปจ่ายค่าขนของค่ามัดจำที่พัก เราก็จ่ายไปหนึ่งหมื่นบาทค่ะ เพื่อให้เรื่องจบ จะได้ซ่อมแซมบ้านย้ายเข้าอยู่ไวๆ หนึ่งหมื่นบาทก็โอเคสำหรับเราไม่ต้องมาติดต่อราชการยุ่งยากอีก อีกอย่างจะได้ไม่ต้องมารับสายฟังเขาบ่นร้องขอเงินอีก ส่วนใครจะยืนหยัดไม่จ่ายเงินก็ได้ค่ะ สิทธิ์ของคุณเลย แต่ใครจะตัดรำคาญแบบเราก็ได้ค่ะ

     เมื่อเขาออกแล้วก็ต้องไปเขียนหนังสือที่บังคับคดีเพื่อแจ้งว่าเขาออกจากทรัพย์และเราสามารถเข้าไปอยู่ได้แล้วอีกหนึ่งฉบับค่ะ

     ส่วนที่มีคนพูดบ่อยคือเราไปติดต่อศาลข.ทำไม อันนี้บังคับคดีทั้งก.ทั้งข.ก็งงค่ะ เราเองก็ไม่ได้อยากไป แต่ศาลก.เขาบอกว่าทำให้ไม่ได้ ให้ไปติดต่อศาลข.เราถึงต้องไป

     ถ้าคุณไม่เจอความยุ่งยากแบบเรา ก็จะมีขั้นตอนแค่ ยื่นคำขอฝ่ายเดียวที่ศาล จากนั้นมาบังคับคดีเพื่อยิ่นคำขอขับไล่หรือขอหมายจับ พอเขาออกแล้วก็มายื่นอีกทีแค่นั้นเองค่ะ

สรุป 

     ไปติดต่อศาลก.ประมาณ5ครั้ง เพราะไปถามวิธีเขียนบ่อยด้วยค่ะ ศาลข.สองครั้ง บังคับคดีข.สองครั้ง บังคับคดีก.หลายครั้งมากค่ะ

     ยื่นเอกสารคำร้องอะไรแบบนี้ ที่ศาลข.2ครั้ง (ครั้งหนึ่งยื่นขอสำเนา) ยื่นคำร้องที่บังคับคดีข.หนึ่งครั้ง ยื่นที่บังคับคดีก.สองสามครั้งค่ะ

ค่าใช้จ่าย 

     มีค่าเดินทางไปแต่ละศาลและบังคับคดี เราไปจังหวัดข.ด้วยรถสาธารณะก็เสียเงินหน่อย เพราะไปหลายครั้ง ค่าแท็กซี่อีก นอกจากนี้ก็มีค่าสำเนาที่ศาล ค่าขอทะเบียนราษฎร์ ค่าอากรแสตมป์เนื่องจากเราทำมอบอำนาจค่ะ ค่าถ่ายเอกสารหลายๆอย่าง ค่าใช้จ่ายที่บังคับคดีสองที่2500บาทแต่ขอเงินคืนได้เกือบทั้งหมด

     ถ้าใครมีเวลาว่างก็ทำเองได้นะคะ ไม่จ้างทนาย ถ้าใครยุ่งก็อาจจะดีกว่าถ้าจ้าง ขั้นตอนหมดนี้ใช้เวลาแค่ประมาณหนึ่งเดือนค่ะ ยิ่งถ้าคุณไม่มีปัญหาต้องไปอีกจังหวัดหนึ่งแบบเรายิ่งเสร็จไว

      สำหรับเรื่องนี้ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่อยากจะซื้อบ้านจากกรมบังคับคดี แต่ทางที่ดีก็ควรศึกษาให้ละเอียดก่อนนะคะ

ขอขอบคุณที่มาจาก : สมาชิกหมายเลข 5106283 


advertisement