advertisement

หายสงสัย แสงไฟถนน ทำให้ข้าวไม่ออกรวงได้จริงหรือไม่


advertisement

       ช่วงนี้เป็นฤดูของการเก็บเกี่ยวข้าว เราก็เริ่มเห็นกระแสข่าวเกี่ยวกับข้าวกันอีกค่ะ อย่างเช่น การตากข้าวบนถนน ที่เกิดอุบัติเหตุได้แทบทุกวัน หรือการขอใช้กระสอบคลุมหลอดไปริมถนน ที่ชาวนาอ้างว่า แสงไฟจากหลอดไฟริมถนนมีผลทำให้ข้าวไม่ออกรวง

       ล่าสุด อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาคลายข้อสงสัย ว่าแสงไฟริมถนน มีผลต่อการออกรวงของข้าวจริงหรือไม่ โดยได้ระบุว่า….

        "ทำไมแสงไฟถนน ทำให้ข้าวไม่ออกรวง"

        เข้าสู่ช่วงปลายของทุกปี ก็จะมีข่าวเกี่ยวกับ "ชาวนาเดือดร้อน เพราะโคมไฟแสงสว่างริมถนนทำให้ข้าวไม่ออกรวง เลยขอใช้กระสอบปุ๋ยคลุมกันแสง ไม่ให้โดนนาข้าว" ออกมาอีกครั้ง … ซึ่งหลายคนก็งงว่าเป็นเรื่องจริงหรือ? จำเป็นต้องทำเช่นนั้นหรือเปล่า ? 

        คำตอบก็คือ แสงไฟถนน มีผลจริงต่อข้าว "บางพันธุ์" ที่นิยมปลูกจำหน่ายกันครับ (ดังคำอธิบายด้านล่าง ซึ่งเคยโพสต์ไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว) และถ้าไม่ปรับเปลี่ยนเรื่องพันธุ์ข้าว ก็คงต้องหาทางวางแผนกันล่วงหน้าว่าจะจัดการอย่างไร ให้เกิดความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนกันด้วย

        อย่างตามข่าวนี้ เป็นพื้นที่ ต.แสวงหา อ.แสวงหา จ.อ่างทอง ที่มีการใช้กระสอบปุ๋ยไปคลุมไฟตามถนน ป้องกันแสงส่องสว่างในช่วงกลางคืนที่ทำให้ข้าวไม่ออกรวงรวง หรือออกรวงช้ากว่าปกติ โดยได้แจ้งกับทางเทศบาลฯ ขออนุญาตในการคลุมโคมไฟข้างทางประมาณ 1 เดือน จึงจะนำกระสอบปุ๋ยออก โดยจะมีการเว้นระยะทางให้มองเห็นเส้นทางในตอนกลางคืน .. ไม่เช่นนั้น ข้าวจะไม่ออกรวง มีเพียงแต่ใบข้าว 


advertisement

        "ข้าวไม่ออกรวง อาจจะเกิดจากหลอดไฟถนนจริง"


advertisement

        แสงไฟถนน อาจจะมีผลต่อการเจริญเติบโตและการออกรวงของต้นข้าวจริง และอีกปัจจัยสำคัญคือ การเลือกพันธุ์ข้าวมาเพาะปลูกให้เหมาะสม โดยควรใช้พันธุ์ข้าวชนิด "ไม่ไวต่อช่วงแสง" เพื่อแก้ปัญหานี้

        "แสง" เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งของพืชในการ "เจริญเติบโต" พืชส่วนใหญ่ที่ได้รับแสงน้อย ก็ย่อมเจริญเติบโตน้อยกว่าพืชที่ได้รับแสงมาก  แต่แสง ก็มีผลสำคัญต่อเรื่อง "การออกดอกออกรวง" ของข้าวด้วยที่เรามักจะชอบเรียกว่า "ความไวต่อช่วงแสง (sensitivity to photoperiod)"  โดยช่วงความยาวของกลางวัน มีอิทธิพลต่อการออกดอกของต้นข้าว ทำให้เราแบ่งพันธุ์ข้าวออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

        1. "ข้าวที่ไวต่อช่วงแสง" จะออกดอกในเดือนที่มีความยาวของกลางวันสั้น (น้อยกว่า 12 ชั่วโมง)   พันธุ์ข้าวพันธุ์พื้นเมืองส่วนใหญ่ และจะต้องปลูกในฤดูนาปี โดยอาศัยน้ำฝน และมีความยาวของกลางวันสั้นเพียงพอที่จะกระตุ้นให้ข้าวกลุ่มนี้ออกดอกได้ โดยมักจะออกดอกในเดือนกันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน และธันวาคม ข้าวกลุ่มที่ไวต่อช่วงแสงนี้ จะมีประโยชน์ต่อชาวนาในภาคอีสานที่ถึงฝนมาเร็วมาช้า แต่มักจะหมดฤดูฝนในต้นเดือนพฤศจิกายน จึงยังออกดอกให้เก็บเกี่ยวได้ แม้ผลิตผลจะลดต่ำลง [ads]

        2. "ข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสง" การออกดอกของข้าวกลุ่มนี้ ไม่ขึ้นอยู่กับความยาวของกลางวัน เมื่อต้นข้าวเจริญเติบโตครบตามกำหนด ก็จะออกดอกทันทีไม่ว่าเดือนนั้นจะมีกลางวันสั้นหรือยาว  จึงใช้ปลูกได้ผลดีทั้งในฤดูนาปรังและนาปี โดยจะให้ผลิตผลสูงเมื่อปลูกในฤดูนาปรัง

        นั่นคือ "พันธุ์ข้าวไวแสง" เมื่อครบระยะการเจริญเติบโตของลำต้นแล้ว จะไม่สร้างช่อดอกจนกว่าจะได้รับช่วงแสงแบบที่ชอบ   ส่วน "พันธุ์ข้าวไม่ไวแสง" จะเริ่มสร้างช่อดอกทันที หลังจากที่ข้าวเจริญเติบโตทางลำต้นครบระยะแล้ว

        ดังนั้น ถ้าข้าวพันธุ์ที่ชาวนาใช้ตามข่าว เป็นพันธุ์ข้าวที่ไวต่อช่วงแสงแล้วละก็ ย่อมมีความเป็นไปได้ที่ต้นข้าวซึ่งอยู่ติดไฟถนนส่องสว่างนั้น จะได้รับ "ช่วง" แสงยาวนานกว่าที่มันชอบ และทำให้ถึงแม้ลำต้นจะเจริญเติบโตเขียวขจี แต่ก็ไม่ยอมออกดอกออกรวงเสียที เมื่อเทียบกับข้าวที่ได้รับแต่แสงธรรมชาติ
ซึ่งถ้าชาวนาสามารถเปลี่ยนไปใช้พันธุ์ข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสง ก็ย่อมจะทำให้เพาะปลูกเก็บเกี่ยวได้ดีขึ้น โดยไม่ต้องกังวลเรื่องแสงไฟจากถนน … หรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นทดแทน ในบริเวณริมถนน  


advertisement

       หลายคนที่เคยตั้งข้อสงสัย ตอนนี้ก็หายสงสัยกันแล้วล่ะค่ะ ซึ่งต่อไปก็อาจจะต้องหาวิธีการป้องกันกันให้มากกว่านี้ค่ะ

เรียบเรียงโดย : thaihitz.com ขอขอบคุณข้อมูลจาก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ 


advertisement