advertisement

ข้อคิดดีๆ ฝากถึงครู อย่าให้โรงเรียนมาขัดขวางการเรียนรู้ของเด็ก


advertisement

        หลายคนคงจะเคยเห็นหรือว่าตอนสมัยเรียนอาจจะเคยทำมาแล้ว สำหรับเวลาที่ไปทศันศึกษาหรือว่าดูงานครูจะมอบหมายงานให้จดสาระสำคัญของงานนั้นๆ ตามบูทต่างๆ ที่จัดอยู่ภายในงาน จุดประสงค์เพื่อที่จะให้เด็กเข้าชมงานและได้จดบันทึกความรู้เอาไว้ด้วย 

        แต่ล่าสุด ทางด้านผู้ใช้เฟสบุ๊ก มติพล ตั้งมติธรรม ก็ได้ออกมาโพสต์ภาพของนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่กำลังจดงานลอกจากบอร์ดจัดงานลงในเอกสารอย่างตั้งใจ ซึ่งได้แสดงความคิดเห็นในฐานะผู้จัดงานเห็นแล้วท้อมากๆ โดยระบุว่า….

        "อย่าให้โรงเรียนมาขัดขวางการเรียนรู้"

        "I have never let my schooling interfere with my education." -Mark Twain

        ภาพนี้เป็นภาพที่เห็นอยู่เป็นประจำทุกครั้งที่จัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ เด็กนักเรียนในเครื่องแบบเดียวกันพรั่งพรูเข้ามาที่บู๊ท ยกใบงานหรือสมุดบันทึกขึ้นมา แล้วก็ลอกทุกตัวอักษรที่จัดแสดงอยู่โดนที่ไม่ได้สนใจดูเลยว่านิทรรศการเป็นอย่างไรบ้าง

        ในฐานะคนที่ออกแบบนิทรรศการมหกรรมวิทย์มาหลายครั้ง เห็นแบบนี้แล้วท้อครับ เพราะว่าสิ่งที่เขียนอยู่เป็นเพียงส่วนเล็กๆ น้อยๆ ของกิจกรรมเรียนรู้ทั้งนั้น ยิ่งนิทรรศการที่ออกแบบมาเป็นแบบ interactive ตาดูหูฟังมือได้จับต้องสมองได้คิดตาม การที่จดลอกไปทุกตัวอักษรนั้นไม่ได้ทำให้ได้ในสิ่งที่ต้องการจะสื่อแต่อย่างใด

        ยิ่งในยุคปัจจุบัน ที่ความรู้มีหาได้ทั่วไปบนอินเตอร์เน็ต สิ่งที่สำคัญจริงๆ จึงไม่ใช่ "ความรู้" หรือการจดบันทึกอีกต่อไปแล้ว เพราะใครที่มีโทรศัพท์ก็สามารถเปิดหาความรู้ได้ แต่ "ความเข้าใจ" หรือ "ความประทับใจ" นั้นสำคัญกว่ามาก เพราะใครที่เข้าใจหรือประทับใจ ก็สามารถที่จะไปนึกคีย์เวิร์ดเพื่อเสิร์ชหาในภายหลังได้เอง

        บางครั้ง สิ่งที่คนออกแบบต้องการจะสื่อ ก็อาจจะเป็นแมสเสจง่ายๆ แค่ว่า “วิทยาศาสตร์มันก็สนุกดีนะ” ซึ่งการยกกระดาษขึ้นมาลอกบนบอร์ดนั้นนอกจากไม่ช่วยแล้ว ยังทำลายความตั้งใจทั้งหมดของคนทำโดยสิ้นเชิง


advertisement

        ยิ่งเปรียบเทียบกลุ่มนักเรียนในเครื่องแบบที่มาทัศนศึกษา กับกลุ่มเด็กนักเรียนที่มากับพ่อแม่หลังเลิกเรียนหรือเสาร์อาทิตย์แล้ว เห็นได้ชัดว่าเด็กอายุไล่เลี่ยกัน แต่ความสนใจ ตั้งใจ และสนุกสนานแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว ทั้งๆ ที่สิ่งเดียวที่ทำให้พวกเขาแตกต่างกันก็คือใบงานและปากกาในมือ ถ้าไม่เรียกว่า “โรงเรียนกำลังขัดขวางการเรียนรู้” ก็ไม่รู้จะต้องพูดว่าอะไรแล้ว

        แล้วเพราะเหตุใดเราถึงได้เห็นภาพแบบนี้อยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า?

        จริงๆ ก็เป็นเรื่องที่นึกและเข้าใจได้ไม่ยาก ว่าเหตุการณ์ในภาพนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เริ่มจากโรงเรียนส่งนักเรียนให้ไปทัศนศึกษาที่งานมหกรรมวิทย์ฯ คุณครูกลัวว่านักเรียนจะเอาแต่เล่น อู้ หนีไปเที่ยว ก็เลยบังคับให้ทำรายงาน จดบันทึก หรือกรอกใบงานส่ง เพื่อเก็บเอาไว้เป็นหลักฐานว่าไปดูมาจริงๆ

        ซึ่งผมก็พอเข้าใจนะ ผมก็เคยเป็นเด็ก อู้ โดดเรียน หนีเที่ยว ฯลฯ ก็เคยมาหมดแล้ว แต่ในทางกลับกัน ถามจริงๆ ว่าการจดแบบนี้ไป มีใครบ้างที่ได้ประโยชน์?

        หน่วยงานที่จัดบู๊ท คนที่ออกแบบนิทรรศการ ได้ประโยชน์หรือไม่? ขอตอบเลยว่าไม่ ถ้าอยากได้ข้อความขอมาสิ จะส่งไฟล์ให้เลยก็ยังได้ จะลอกไปเพื่อ

        คุณครูที่สั่งงาน ได้ประโยชน์หรือไม่? เชื่อเถอะว่าครูส่วนใหญ่เก็บไปก็ไม่ได้อ่าน ใครมันจะไปนั่งอ่านสิ่งที่ทุกคนลอกมาเหมือนกันหมด อย่างมากก็เก็บเอาไว้เช็คยอด ทำ KPI ฯลฯ

        สุดท้ายก็เหลือที่ตัวนักเรียนเอง ถามว่านักเรียนได้ประโยชน์หรือไม่? การมีใบงานหรือรายงานที่ต้องส่งทำนักเรียนได้ประโยชน์จากมหกรรมวิทย์ฯ เท่าที่ควรรึเปล่า? คำถามนี้คือคำถามที่เราควรจะถามกันจริงๆ

        ส่วนนึงของปัญหานี้ มีรากฐานมาจากอีกปัญหาหนึ่งที่ใหญ่กว่าในการศึกษาไทย นั่นก็คือ เรื่องของ "ปริมาณ vs. คุณภาพ" เรามักจะสนใจ "ปริมาณ" มากกว่า "คุณภาพ" นั่นก็เพราะว่า "ปริมาณ" เป็นสิ่งที่วัด และจับต้องได้ง่ายกว่ามาก ในขณะที่ "คุณภาพ" เป็นคุณสมบัติที่ขึ้นอยู่กับบุคคล จับต้องไม่ได้ ไม่ได้มีมาตรฐานที่รองรับ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเชิงนโยบายที่ว่า "ปริมาณ" สามารถวัดสะท้อนผ่านทาง KPI ได้ง่ายกว่ามาก ในขณะที่ "คุณภาพ" นั้นแทบจะไม่มีดรรชนีใดๆ มาวัดเอาได้เลย เราจึงมักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับคุณภาพเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม เพราะคุณภาพของการศึกษา เป็นสิ่งที่สำคัญกว่าจำนวนเป็นไหนๆ

        การบังคับให้ทุกคนต้องจด แน่นอนว่าจะได้ปริมาณนักเรียนที่โดนบังคับไปดูนิทรรศการมากกว่า แต่ถามว่านักเรียนเหล่านั้นได้เรียนรู้อะไรจริงๆ มากน้อยแค่ไหน แล้วเขาได้เข้าใจสิ่งที่ลอกไปหรือไม่ แล้วเขาสนุกแค่ไหน จบวันไปพ่อแม่ถามว่าไปงานมาแล้วเป็นอย่างไรบ้าง เขามีอะไรสนุกๆ เล่าให้พ่อแม่ฟังหรือไม่

        อย่างในภาพนี้ น้องๆ มัวแต่ยุ่งจะจด จนไม่ได้รู้ด้วยซ้ำว่าหน้าต่างตรงหน้านั้นเป็นการจำลองชุดนักบินอวกาศ พร้อมทั้งถุงมือให้ทดลองประสบการณ์การทำภารกิจในอวกาศด้วยตนเอง ในขณะที่คนที่ไม่ได้มาจด เดินมาเล่นๆ เขาอาจจะกลับไปเล่าให้แม่ฟังว่าวันนี้ไปลองเป็นนักบินอวกาศอพอลโลมา

        เราจะทำอย่างไรให้เด็กนักเรียนสนใจที่จะขวนขวายเรียนรู้มากกว่านี้ คำตอบนี้ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายๆ และซับซ้อน แต่จากในภาพนี้เราอาจจะเริ่มทำได้ง่ายๆ โดยการเอากระดาษและปากกาในมือออกไป และให้เขาเงยหน้าขึ้นมามองดูรอบๆ บ้าง

        แต่ถ้าครูบางคนต้องการหลักฐานจริงๆ ว่านักเรียนไม่ได้หนีเที่ยว หรือไม่สนใจ ฯลฯ ก็มีวิธีที่ทำได้ดีกว่าการจดบันทึกอีกเยอะ เช่น ให้นักเรียนถ่ายรูปกับบู๊ทแล้วประกวดรูปถ่าย ให้นำเสนอบู๊ทที่ประทับใจที่สุดพร้อมทั้งเหตุผล ให้โหวตบู๊ทที่ตัวเองชอบที่สุด จะให้โก้ๆ หน่อยครูจะแอบไปสำรวจล่วงหน้าแล้วทำเป็นภารกิจให้แข่งกันไปหาของตามบู๊ทต่างๆ ก็เก๋ไปอีกแบบ อย่างน้อยๆ ถ้าจะให้เขียนใส่กระดาษจริงๆ ก็ให้กลับมาเขียนรายงานสรุปเป็นคำพูดของตัวเองก็ยังดีกว่า เอ้า

        แต่จากใจของคนที่ต้องออกแบบนิทรรศการวิทยาศาสตร์ ผมขอเถอะครับ ปล่อยให้เด็กเขาเงยหน้าขึ้นมาดูนิทรรศการที่พวกผมอุตส่าห์ทำไปบ้าง และอย่าปล่อยให้โรงเรียนต้องมาคอยขัดขวางการเรียนรู้ของเด็กๆ เลย

ความคิดเห็นจากชาวเน็ต 


advertisement

      ก็เป็นอีกหนึ่งมุมความคิดเห็นเกี่ยวกับเด็กนักเรียนที่เป็นประโยยชน์และน่าเก็บไปคิดสำหรับคุณครูควรที่จะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ยังให้เด็กนักเรียนได้ประโยชน์สูงสุดในการศึกษษดูงานในรูปแบบนี้ 

เรียบเรียงโดย : thaihitz.com ขอขอบคุณข้อมูลจาก มติพล ตั้งมติธรรม


advertisement