advertisement

ไขข้อสงสัย ถังแก๊สมีน้ำแข็งเกาะ เป็นเพราะถังรั่วหรือเรื่องปกติ


advertisement

       เป็นประเด็นที่หลายคนสงสัยเป็นอย่างมาก หลังจากที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Patcha Rut Patcha ได้ออกมาเผยภาพ ถังแก๊ส ที่มีน้ำแข็งเกาะหนาอยู่บริเวณก้นถัง ซึ่งดูแล้วไม่ปกติอย่างมาก โดยเจ้าของเฟซบุ๊กดังกล่าว ได้เผยภาพ พร้อมระบุว่า…

       "สอบถามผู้รู้ค่ะเราเปิดแก๊สไม่ติดเข้าใจว่าแก๊สหมดก็เลยจะเปลี่ยนถังแก๊ส แต่พอหมุนวาล์วสายแก๊สออกมันมีลมออกมาจากถัง แล้วถังแก๊สก็เป็นน้ำแข็งเหมือนในรูป เกิดอะไรขึ้นคะไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน" ซึ่งหลายคนมองว่าอาจจะเกิดจากแก๊สรั่ว 

       

      ล่าสุด อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้ออกมาไขข้อข้องใจถึงเรื่องนี้ โดยได้อธิบายว่า…


advertisement

      "ถังแก๊สมีน้ำแข็งเกาะ เป็นเรื่องปรกติเป็นไปได้ ไม่ใช่ว่าถังรั่วครับ

      คุณเจ้าของกระทู้นี้อาจจะไม่เคยเห็น "ถังแก๊สมีน้ำแข็งเกาะ" มาก่อน แต่มีหลายท่านที่เคยเห็นแล้ว โดยเฉพาะคนที่ขายถังแก๊สหรือเปลี่ยนถังแก๊สบ่อยๆ เพราะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ และไม่ได้แปลว่า "ถังแก๊สรั่ว จะเป็นอันตราย" ด้วยครับ

      สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากในถังแก๊สนั้น บรรจุแก๊ส LPG หรือ Liquefied Petroleum Gas ซึ่งเป็นแก๊สเชื้อเพลิงปิโตรเลียม (มักเป็นส่วนผสมระหว่าง โพรเพน กับ บิวเทน) ผ่านการอัดความดันสูง ให้เปลี่ยนสถานะจาก "ก๊าซ" กลายเป็น "ของเหลว" มาบรรจุในถังแก๊สโลหะที่ทนแรงดันสูงได้


advertisement

      เวลาเราเปิดวาล์วใช้แก๊สจากถังนั้น ความดันในถังจะลดลง แก๊ส LPG เหลว จะเปลี่ยนสถานะจากของเหลวกลายเป็นก๊าซ ด้วยการดึงเอาความร้อนจากข้างนอก เข้ามาในระบบ ความร้อนนี้จะทำให้อนุภาคของแก๊สเหลว มีพลังงานเพิ่มขึ้น เมื่อมีพลังงานสูงกว่าแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาค จะทำให้อนุภาคของแก๊สเหลวแยกตัวออกจากกัน ของเหลวจะเปลี่ยนสถานะเป็นก๊าซ (เรียกกระบวนการนี้ว่า การกลายเป็นไอ) ออกมานอกถังได้

      จากการที่การกลายเป็นไอของแก๊ส LPG เหลวจะต้องใช้ความร้อน ดังนั้น เมื่อเปิดวาล์วแก๊ส ถังแก๊สจะเย็นตัวลง เพราะมีการดึงเอาความร้อนจากอากาศโดยรอบ ยิ่งแก๊ส LPG เปลี่ยนสถานะเป็นไอในปริมาณมากขึ้นเท่าไหร่ ความร้อนก็ถูกดึงไปมากขึ้นเท่านั้น

      ในช่วงแรกที่แก๊ส LPG เหลวยังมีมากอยู่ในถังนั้น ความดันภายในถังยังสูงอยู่ จึงไม่ได้มีการดึงเอาความร้อนจากภายนอกเข้าไปมากนัก (ถังไม่ได้เย็นตัวลงนัก) แต่เมื่อมีการเปิดวาล์วความดันเพื่อใช้แก๊สจากในถัง และระดับของ LPG ลดลงมาก (เช่น ลงมาครึ่งค่อนถัง) ความดันในถังก็จะน้อยลงด้วย ทำให้มีการดูดความร้อนจากภายนอกเข้ามามากขึ้นในการกลายเป็นไอของแก๊สเหลว

      และถ้าความร้อนของอากาศรอบถังแก๊สถูกดูดไปมาก จนอุณหภูมิของไอน้ำในอากาศตรงนั้นเกิดการควบแน่นได้ ก็จะเกิดเป็นหยดน้ำเกาะที่ผิวถังแก๊ส หรือกลายเป็นคราบเกล็ดน้ำแข็งได้ในที่สุด

      … แต่ปรากฏการณ์นี้ ก็ไม่ได้เป็นอันตรายต่อถังแก๊ส เช่นจะทำให้ถังระเบิดนะครับ อย่างมากก็ทำให้เป็นสนิมได้ง่ายขึ้น และถ้าไม่อยากให้เกิดก็อาจจะมีการหุ้มฉนวนความร้อน ที่ถังแก๊สเพิ่มได้

      แถมด้วยว่า ในกรณีที่สงสัยว่า ถังแก๊สหรืออุปกรณ์เชื่อมต่อแก๊สไปยังเตาแก๊ส มีจุดที่เกิดการรั่วหรือเปล่า ? ก็ให้ปิดวาล์วถังแก๊สและเตาแก๊สเสียก่อน เพื่อหยุดการรั่วของแก๊ส (ถ้ามี) ให้เปิดประตูหน้าต่างทุกบาน พร้อมใช้ไม้กวาดหรือกระดาษ พัดเหนือระดับพื้นเพื่อระบายก๊าซออกสู่ภายนอก

      จากนั้น ยกถังก๊าซไปไว้ในที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก ตรวจสอบรอยรั่วของถังแก๊ส โดยใช้น้ำสบู่ทาลูบบริเวณที่สงสัย (เช่น วาล์วถังแก๊ส หัวปรับความดัน ข้อต่อ แกนลูกบิด สายอ่อนนำแก๊ส) หากมีแก๊สรั่วจริง จะเกิดฟองอากาศของสบู่ โป่งออกมา ที่สำคัญคือ ห้ามเปิดสวิตช์ไฟ พัดลม หรือจุดเทียนจุดไฟแช็คส่องดูเด็ดขาดครับ" 


advertisement

        ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องปกติ และหลายคนอาจจะพอรู้สาเหตุกันมาอยู่บ้าง แต่ก็น้อยคนนักที่จะเคยเห็นน้ำแข็งเกาะบริเวณถังแก๊ส จึงทำให้มันดูน่ากลัวและดูไม่ปลอดภัย 

อุณภูมิภายนอกและแรงดันภายในถังลดความดันอย่างรวดเร็ว ใช่มั้ยครับอาจารย์ 


advertisement

        ถ้าใช้แก๊สเยอะๆเช่นพวกเตาเผาเซรามิคก็จะเป็นแบบนี้ถือว่าปกติ บางทีต้องเอาถังแช่ในน้ำที่ต้มไม่งั้นแก๊สไม่ออก การระเหยของแก๊สเหลวในถังออกมาเป็นสถานะก๊าซมันต้องดูดความร้อนถังจึงเย็นเป็นน้ำแข็ง 

      เรื่องนี้ก็เป็นความรู้ใหม่ของใครหลาย ๆ คน ว่ากรณีนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น และไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด แต่การใช้งานแก๊สก็ต้องระมัดระวังกันด้วยค่ะ

เรียบเรียงโดย : thaihitz.com ขอขอบคุณข้อมูลจาก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ 


advertisement